‘เมียนมา’ เตรียมชูฟรีวีซ่า VOA เหตุดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย

จากสื่อทางการของเมียนมา ‘Global New Light of Myanmar’ ได้อ้างข้อมูลจากกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมา ระบุว่าเมียนมาเตรียมที่จะเสนอวีซ่าท่องเที่ยว Visa on Arrival (VOA) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยผู้ถือวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมสถานที่ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่หวงห้าม เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเมียนมาเข้าสู่ภาวะถดถอย สาเหตุสำคัญมาจากค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ และปัญหาไฟฟ้าดับในเมืองใหญ่ ทำให้ตู้เอทีเอ็มดับ

ที่มา : https://www.travelandleisureasia.com/in/news/myanmar-to-offer-visa-on-arrival-to-chinese-and-indian-tourists/

เมียนมาจ่อให้วีซ่าจีน-อินเดียหวังดึงนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ

โกลบอล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า รัฐบาลมีแผนให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียสามารถรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางมาถึงโดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวล่วงหน้า (visa on arrival) หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นเมื่อใดแต่มีกำหนดทดลองโครงการนี้เป็นเวลา 1 ปี ผู้ได้รับวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมสถานที่ได้ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่หวงห้ามเท่านั้นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ปัจจุบันพลเมืองของทั้ง 2 ชาติ ต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่สถานทูตเมียนมา ขณะที่เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาสายการบินเมียนมา แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชั่นแนล สายการบินแห่งชาติเริ่มเที่ยวบินตรงจากนครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ไปยังเมืองโนโวซีบีร์สก์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานนิวเคลียร์และเทคโนโลยีรายใหญ่

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2725600

‘ค้าชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ’ ทะลุ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 5 เดือน

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมามียอดการค้าข้ามพรมแดนกับบังกลาเทศ อยู่ที่ 7.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านเส้นทางเมืองสำคัญอย่างมองดอว (Maungdaw) และซิตเว (Sittwe) ในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ การค้าผ่านมองดอว มีมูลค่า 5.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการค้าผ่านซิตเว อยู่ที่ประมาณ 1.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมีระยะทางเพียง 70 ไมล์ทะเล แต่การขนส่งของเรือบรรทุกสินค้าขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในฤดูมรสุม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bangladesh-border-trade-values-cross-us7-mln-over-past-five-months/#article-title

‘เมียนมา’ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วง ม.ค.-ส.ค. ทะลุ 7 แสนคน

กระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมา เปิดเผยว่าเมียนมาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 จำนวนกว่า 751,216 คน และนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเยือนเมียนมา ได้แก่ จีน ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย ซึ่งจากตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติข้างต้น แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นหากเทียบกับทั้งปี 2565 ทั้งนี้ เมียนมามีแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ อาทิเช่น จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวครั้งแรกในเดือน ม.ค. ปีนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เพื่อที่จะส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

ที่มา : https://www.myanmarnews.net/news/273965411/myanmar-receives-751216-intl-tourists-in-january-august

‘ไทย’ คู่ค้าหลักของเมียนมาในภูมิภาค

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าทวิภาคีของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทย ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเมียนมาในกลุ่มประเทศอาเซียน และจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) การค้าทางทะเลและบริเวณชายแดน มีมูลค่าอยู่ที่ 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเมียนมาไปยังตลาดไทย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สินค้าประมง ถ่านหิน มะพร้าวและอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ เครื่องจักร สินค้า อุตสาหกรรมและอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันเมียนมาได้ทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย) ผ่านชายแดนทางบก ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมียวดี มูด่อง ทิกิ เกาะสองและแมแซะ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thailands-top-trading-partner-with-myanmar-among-regional-countries/#article-title

‘ค้าชายแดนจีน-เมียนมา’ 5 เดือน พุ่ง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการค้าชายแดนเมียนมา-จีน ในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) มีมูลค่าการค้าสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 โดยตัวเลขการค้าดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายอดการค้าเพิ่มขึ้นราว 648.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ เมียนมามีด่านการค้าชายแดนกับประเทศจีน ได้แก่ ด่านมูแซ (Muse), ด่านชีนฉวินหอ (Chinshwehaw), ด่านกัมปติ (Kampaiti) และด่านเชียงตุง (Kengtung) โดยเฉพาะด่านมูแซที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนมากที่สุด อยู่ที่ 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และประมง ในขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุตสาหกรรม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-border-trade-skyrockets-to-us1-7-bln-over-last-five-months/#article-title

คาดสะพานมิตรภาพ เมียนมา-สปป.ลาว ส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม การค้าชายแดนระหว่างเมียนมา และ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ภายหลังจากการเปิดให้ใช้สะพานมิตรภาพ เมียนมา-สปป.ลาว สร้างมูลค่าการค้าข้ามชายแดนมากกว่า 900,000 ดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมการค้าภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ปัจจุบัน สปป.ลาว นำเข้ายาสูบจากเมียนมาเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ โดยหลังจากเปิดให้ใช้บริการสะพานข้ามแดนดังกล่าวส่งผลทำให้ส่งเมียนมาส่งออกยาสูบได้ในปริมาณกว่า 22 ตัน ไปยัง สปป.ลาว ผ่านสถานี Kenglatborder ในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน สร้างมูลค่าการค้ากว่า 35,000 ดอลลาร์ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและผลิตผลทางการเกษตรจากเมียนมาไปยัง สปป.ลาว มากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมของปีงบประมาณ 2023-2024 สร้างรายได้มากกว่า 900,000 ดอลลาร์ จากการส่งออกกุ้ง, รวมถึงสร้างรายได้จากการส่งออกข้าว 14,000 ดอลลาร์ และส่งออกยาสูบมูลค่ารวม 35,000 ดอลลาร์ รวมเป็นมูลค่ากว่า 997,000 ดอลลาร์ ที่ได้มีการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนดังกล่าว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-laos-friendship-bridge-promotes-border-trade/

‘เมียนมา’ ชี้ช่วง 5 เดือนปี 66 ยอดการค้าต่างประเทศ พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ากว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีอยู่ที่ 6.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขการค้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการค้าปรับตัวลดลงราว 690.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และสินค้าอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าหลักของเมียนมา ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบที่นำเข้าจากบริษัท CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-soars-past-us13-bln-in-last-five-months/#article-title

‘เมียนมา’ เผย 5 เดือนปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ ปริมาณมากกว่า 720,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (เม.ย..-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ การส่งออกถั่วพัลส์ทางทะเล มีมูลค่า 488.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 607,129 ตัน ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่า 97.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมายังส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมันและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิเช่น อินเดีย จีนและสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pulses-exports-earn-over-us580-mln-in-past-five-months/#article-title

บังกลาเทศ ยื่นเสนอ 3 โมเดลการค้าแบบนำเข้าน้ำตาลจากเมียนมา

สมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของเมียนมา (MSCA) เปิดเผยว่าบังกลาเทศได้ยื่นข้อเสนอให้มีการนำเข้าน้ำตาลจากเมียนมา ภายใต้รูปแบบระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานภาครัฐ (G2G), หน่วยงานรัฐกับภาคธุรกิจ (G2B) และธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ซึ่งผลปรากฎว่าทางสมาคมฯ พร้อมที่จะส่งออกน้ำตาลไปยังบังกลาเทศ เนื่องจากมีสต็อกเพียงพอในปีงบประมาณนี้ นอกจากนี้ ยังมีการยื่นข้อเสนอให้ซื้อข้าวจากเมียนมา เนื่องจากข้าวมีคุณภาพดี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bangladesh-proposes-three-commercial-models-for-importing-sugar-from-myanmar/#article-title