สปป.ลาว รัสเซีย จับมือเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นาย Ounthuang Khaophanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข้อมูล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ร่วมหารือกับนาย Alexander Radkov ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของรัสเซียประจำสปป.ลาว ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเวียงจันทน์และเมืองวลาดีวอสตอค ซึ่งเป็นเมืองบนชายฝั่งตะวันออกของรัสเซีย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่อยากมาท่องเที่ยวสปป.ลาว โดย สปป.ลาวก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเข้ามาเยือน ซึ่งนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ระบุว่าสปป.ลาวเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศอันน่าทึ่งที่แนะนำสำหรับผู้ที่จะมาเยือนในปี 2566 นอกจากนี้ นิตยสารท่องเที่ยว Wanderlust ของสหราชอาณาจักรยังจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุด หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสปป.ลาวมากกว่าหนึ่งล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten211_Laorusia.php

นายกฯ วอนภาคธุรกิจ สปป.ลาว-บรูไร ร่วมมือพัฒนาการค้าระหว่างกัน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด สนับสนุนให้ภาคธุรกิจใน สปป.ลาว และบรูไน กระชับความร่วมมือและลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของทั้งสองประเทศในการพัฒนาภาคธุรกิจระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีได้กล่าวในระหว่างไปเยือนบรูไน พร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24-26 ตุลาคม ตามคำเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกและสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับนักธุรกิจใน สปป.ลาวและบรูไน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางด้านการลงทุนและเสริมสร้างความร่วมมือในมิติต่างๆ ระหว่างกัน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการลงทุนสูงในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมแปรรูป การท่องเที่ยว และพลังงานสะอาด ในขณะที่บรูไนอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten209_President_y22.php

‘นายกฯไทย-ลาว’ วางศิลาฤกษ์สร้างสะพานมิตรภาพบึงกาฬ-บอลิคำไซ คาดเปิดปี 67

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม คณะผู้บริหาร กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) และกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่งร่วมงาน ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ บก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3.65 พันล้านบาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2.50 พันล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1.15 พันล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 57% (ณ เดือนกันยายน 2565)

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_621791

นายกฯ ไทย-สปป.ลาว เตรียมวางศิลาฤกษ์สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2022 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเป็นประธานร่วมกับนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ด้านโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 นี้ เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในช่วงที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เยือนไทยเมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2022 โดยสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 5 นี้ มีความยาว 1.35 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 0.815 กิโลเมตร และฝั่ง สปป.ลาว 0.535 กิโลเมตร สะพานแห่งนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคระหว่าง ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม บนเส้นทางหมายเลข 8 (R8) เชื่อมต่อกับมณฑลกว่างสีของจีนได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งคาดว่าสะพานแห่งนี้จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2024

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/economy/40021391

ค้าชายแดนหนองคายคืนสภาพ ส่ง‘ผ่านแดน’ เข้าลาวโตพรวด 3 เท่า

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย โดยน.ส.จิราภรณ์ ศิริประเสริฐ พาณิชย์จังหวัด เผยแพร่สถานการณ์การค้าชายแดนด้านจังหวัดหนองคาย ผ่านศูนย์บริการประชาชนด้านการพาณิชย์ว่า การค้าชายแดนด้านจังหวัดหนองคาย ประจำเดือนส.ค. 2565 นี้ มีมูลค่าการค้าชายแดน รวม 9,007.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (ก.ค. 2565) จำนวน 1,4331.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.90% เกือบเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้แล้วตัวเลขมูลค่าการค้าผ่านแดนไทย-สปป.ลาว เดือนส.ค.65 ผ่านด่านศุลการกรจังหวัดหนองคาย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 24,147.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (ก.ค. 2565) จำนวน 13,118.94 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 118.95% เป็นสินค้าแดนขาออกจากประเทศที่สามไปประเทศ สปป.ลาว ผ่านแดนจากไทยจำนวน 18,446.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 13,985.65 ล้านบาท หรือโต 300.06% และเป็นสินค้าผ่านแดนขาเข้าจากประเทศ สปป.ลาว ผ่านแดนไทย ไปยังประเทศที่สาม จำนวน 5,501.21 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ก.ค. 2565) จำนวน 866.71 ล้านบาท หรือลดลง 13.61%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/544868

รัฐบาลคาดเศรษฐกิจสปป.ลาว ปี 65 โต 4.4%

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยว่ารัฐบาลได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ ขยายตัว 4.4% ในปี 2565 ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมอยู่ที่ 4.5% โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัว 4.5% และชะลอตัวเหลือ 4.2% ในไตรมาสที่สอง และ 3.8% ในไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนมาจากภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้แล้วเป็นบางส่วน หลังจากยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางที่บังคับใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และพลังงานมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโควิดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten208_Economy.php

สปป.ลาว ได้รับยกย่องว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในปี 66

Wanderlust นิตยสารท่องเที่ยวชั้นนำของสหราชอาณาจักร ได้ยกให้สปป.ลาว เป็นหนึ่งใน 20 สถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดของเดือนมกราคม 2566 โดยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ในขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 8 โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่าง สี่พันดอนหรือที่รู้จักในชื่อสี่พันเกาะ น้ำตกคอนพะเพ็ง และเมืองปากเซ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามตามแนวริมแม่น้ำโขง ทั้งนี้ในเดือนมกราคม สภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือของลาว เช่น เชียงขวาง พงสาลี และหัวพัน เหมาะแก่การเดินทางมาเยือนเป็นอย่างยิ่ง โดยนักท่องเที่ยวมักเชื่อว่าอาเซียนเป็นประเทศเป็นเขตร้อน แต่ในสถานที่เหล่านี้ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าและตื่นขึ้นมาพบกับทะเลหมอก รวมไปถึงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย และประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องที่อยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/10/24/laos-touted-as-one-of-the-best-places-to-visit-in-2023/

นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสปป.ลาวกว่าล้านคน

ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน ปี 2565 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสปป.ลาว มากกว่า 1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากพิจารณาตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสปป.ลาว อยู่ที่ 644,756 คน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยและเวียดนาม นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกจากการที่สปป.ลาว ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางในเดือนพฤษภาคม หลัง COVID-19

ทั้งนี้ หน่วยงานการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าในปีนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวของสปป.ลาว ทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ อยู่ที่ 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2022/10/20/over-a-million-tourists-visit-laos-this-year/

ADB คาด เศรษฐกิจสปป.ลาว จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2566

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เชื่อว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนใหม่และพลังงานหมุนเวียนและผลผลิตจากเหมืองแร่ที่สูงขึ้น ด้านกลุ่มทุนที่เตรียมเงินทุนมนการปล่อยกู้สำหรับโครงการ Monsoon Wind โครงการพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นโครงการพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน” จากข้อมูลการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook (ADO) ปี 2565 ADB ยังระบุด้วยอีกว่าอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวคาดว่าจะกระตุ้นการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2566 ส่งผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2565 เป็น 2.5% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% และการเติบโตในปี 2566 เหลือ 3.5% จากที่คาดการณ์ไว้ 3.7% การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลงเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซาและนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มมากถึง 17% ในปี 2565 จากราคาน้ำมันที่สูงและค้าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 30.01% เพิ่มขึ้นเป็น 34% ในเดือนกันยายน จากรายงานของสำนักสถิติสปป.ลาว ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และข้อจำกัดของปัจจัยการผลิตได้ลดโอกาสการเติบโตของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในจีน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสปป.ลาว ฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้ ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ อาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าและบริการได้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten202_ADB_Y22.php

IMF คาด เศรษฐกิจสปป. ลาวในปีนี้ เติบโตเพียง 2.2%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจสปป.ลาว ในปีนี้จะเติบโตเพียง 2.2% ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ในปี 2566 และ 4.3% ในปี 2570 การเติบโตที่ลดลงมาทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตลดลงจาก 6.0% ในปี 2564 ลดลงเหลือ 3.2% ในปี 2565 และ 2.7% ในปี 2566 นี่คือเติบโตน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 การหดตัวของ GDP ของสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังถดถอยของสหภาพยุโรป การแพร่ระบาดของ Covid-19 และการล็อกดาวน์ในจีนที่ยืดเยื้อออกไปฉุดให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตต้องสะดุดลง ในขณะที่สปป.ลาว ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและการขาดแคลนน้ำมันในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 มีผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกษตรและการผลิต ในขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของสปป.ลาวในปี 2565 ลงเหลือ 2.5% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4%  ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา Lao Academy of Social and Economic Science (LASES) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของลดลงเหลือ 3% ในปีนี้ จาก 4% ที่คาดการณ์ไว้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten201_Lao_Y22.php