“เวียดนาม” เผยดัชนี CPI พุ่ง 2.44%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนม.ค.-มิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.25% ในขณะเดียวกัน ดัชนี CPI ในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 2.96% และเดือน มิ.ย.65 เพิ่มขึ้น 3.37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบสำหรับการผลิตและค่าขนส่ง และจากข้อมูลของสำนักงานยังบ่งชี้ว่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.65) ยังคงมีความผันผวนอย่างมากและอิทธิพลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความต้องการวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-cpi-up-2-44-in-six-months-2035077.html

“เวียดนาม” เผย GDP Q2/65 ขยายตัว 7.72%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 7.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของไตรมาสเดียวกันตั้งแต่ปี 2554-2564 ในส่วนของคุณ คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญฟื้นตัวได้เกือบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป การค้าปลีกค้าส่งและการส่งออก ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง เพิ่มขึ้น 3.02% รองลงมาภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 46.85% และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 8.56% ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้น 7.32% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, สินทรัพย์สะสม เพิ่มขึ้น 4.57%, การส่งออกสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 12.33%, การนำเข้าสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 4.88% นอกจากนี้ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัว 6.42% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-gdp-expands-7-72-in-second-quarter-of-2022-2034800.html

“เวียดนาม” เผยนับเป็นครั้งแรก จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ทะลุ 70,000 ราย

สำนักงานจดทะเบียนธุรกิจ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีจำนวน 76,233 ราย เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีจำนวนมากกว่า 70,000 ราย และธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการมีจำนวน 116,900 ราย ในขณะที่มูลค่าทุนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 882.1 ล้านล้านดอง (38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 นอกจากนี้ จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 50,909 ราย ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจค้าส่ง ขายปลีก ซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 18,417 ราย คิดเป็น 36.2% รองลงมาคือธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 7,206 ราย และอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป จำนวน 5,948 ราย ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1254327/newly-established-businesses-in-h1-exceed-70000-for-first-time.html

“เวียดนาม” ขึ้นแท่นเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก

เวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของโลก สาเหตุสำคัญมาจากการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้กิจการต้องย้ายสายการผลิตส่วนหนึ่งออกจากประเทศ ทั้งนี้ จากสำนักข่าว  Nikkei Asia ระบุว่าถือเป็นครั้งแรกของบริษัทแอปเปิล (Apple) ที่ย้ายสายการผลิต iPad บางส่วนออกจากจีนและย้ายไปยังเวียดนาม สาเหตุหลักที่แอปเปิลจะย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม อันเนื่องมาจากค่าจ้างแรงงานที่สูงในจีนและการแข่งขันทางการค้าอย่างดุเดือดระหว่างสหรัฐฯ-จีน อีกทั้ง ตามข้อมูลของสำนักข่าวเยอรมัน (DW) ชี้ว่าบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม และในเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่างซัมซุง (Samsung) ประกาศว่าจะเพิ่มเงินลงทุนอีก 920 ล้านเหรียญสหรัฐในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11626602-vietnam-considered-promising-destination-for-world%E2%80%99s-big-names.html

“เวียดนาม” เผยการใช้จ่ายไร้เงินสดยังคงคึกคัก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากการสำรวจของวีซ่า (Visa) ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินระดับโลก เปิดเผยว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามส่วนใหญ่ 65% ถือเงินสดในกระเป๋าน้อยลง และ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างหยุดใช้เงินสด หลังจากแพร่ระบาด ในขณะที่อีก 76% ผู้บริโภคใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลและมากกว่านั้น (82%) หันมาใช้บัตร ทั้งนี้ วีซ่า ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลว่าการซื้อของออนไลน์และการชำระเงินที่หลากหลายยังคงในกิจกรรมของผู้คนหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค อีกทั้ง ผู้บริโภค 9 ใน 10 คน หันมาใช้บริการจัดส่งถึงบ้านและเกือบทั้งหมดใช้บริการรูปแบบนี้บ่อยกว่าช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาด ประกอบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่มากกว่า 80% นิยมใช้บัตรและการชำระเงินด้วย QR ในขณะที่ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ที่มา : https://www.thesundaily.my/home/vietnam-cashless-payments-still-booming-post-pandemic-HG9383768

“เวียดนาม” โอกาสก้าวแทนที่จีน ขึ้นแท่นโรงงานของโลกในอนาคตอันใกล้

ตามรายงานของ Global Times ระบุว่าการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในพื้นที่มณฑลกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และยังเปิดโอกาสแก่เวียดนามที่จะได้รับผลประโยชน์จากการย้ายการลงทุน สาเหตุสำคัญมาจากค่าจ้างแรงงาน ค่าที่ดิน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของโรงงานและคลังสินค้าที่มีราคาและต้นทุนที่ถูก ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัว 5.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แซงหน้าประเทศจีนที่ขยายตัวเพียง 4.8% นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มที่จะทยอยเงินทุนไปยังตลาดเวียดนามมากขึ้น

ที่มา : https://www.aninews.in/news/world/asia/vietnam-may-replace-china-as-factory-of-the-world-in-near-future20220625133010/

“UOB” ประมาณการเศรษฐกิจเวียดนามปี 65 ขยายตัว 6.5%

ธนาคารยูโอบี (UOB) มองภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ประมาณการ GDP ขยายตัว 6.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.7% ตามรายงานบ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 2/2565 ยังอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก และคาดว่า GDP ในไตรมาสที่ 3/2565 จะขยายตัว 7.6% อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากเหตุปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น ในขณะที่เงินเฟ้อของเวียดนามจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.86% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่ธนาคารกลางตั้งเป้าหมายที่ 4% โดยเฉพาะค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นเป็นสองหลักในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11615402-oub-maintains-vietnam%E2%80%99s-gdp-growth-forecast-at-6-5-percent.html

“เฟด” ขึ้นดอกเบี้ย แบงก์ชาติเวียดนามส่งสัญญาอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดการเงินระหว่างประเทศเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนราคาเชื้อเพลิง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ในขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คุณ Pham Chi Quang รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวว่าธนาคารกลางจะปฏิบัติตามนโยบายที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกและลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนและดูแลเสียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้ง เมื่อต้นปี 2565 ธนาคารกลางได้ขายสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อแทรกแซงตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มอุปทาน ในขณะเดียวกันก็รักษาสภาพคล่องของเงินดองเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้สกุลเงินดองมีเสถียรภาพ

 

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-fed-raises-interest-rates-sbv-gives-message-about-exchange-rate-2032548.html

“เวียดนาม” ตั้งเป้าคงหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP ปี 2573

คุณ Anh Tuấn รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเวียดนาม กล่าวว่ากลยุทธ์ในการบริหารหนี้สาธารณะในวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของปี 2564-2573 ซึ่งภายใต้กลยุทธ์ข้างต้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต้องไม่เกิน 60%, สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาล ต้องไม่เกิน 50%, สัดส่วนหนี้ที่เป็นเงินต่างต่างประเทศทั้งหมด ต้องไม่เกิน 45% และการชำระหนี้คืน ต้องไม่เกิน 25% ของเงินงบประมาณทั้งหมด อีกทั้งได้ตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี มีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 และขาดดุลงบประมาณราว 3% ของ GDP ทั้งนี้ ตามตัวเลขทางสถิติของกระทรวง แสดงให้เห็นถึงหนี้สาธารณะชะลอตัวจาก 18.1% ต่อปี ในปี 2554-2558 มาอยู่ที่ 6.7% ในปี 2559-2560 โดยโครงสร้างหนี้สาธารณะได้รับการปรับปรุงที่ยั่งยืน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1252224/keeping-public-debt-below-60-per-cent-of-gdp-by-2030-targeted.html

“ธุรกิจเวียดนาม” ยืนหยัดท่ามกลางความปั่นป่วนเศรษฐกิจรัสเซีย

มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเกิดการสั่นครอน แต่ว่าโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งอย่าง “Ruviteks” มอสโก ประเทศรัสเซีย เจ้าของคนเวียดนาม คุณ Phan Manh Hùng กล่าวกับสำนักข่าวเวียดนามว่าก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ามีแรงงานมากกว่า 100 คน แต่ปัจจุบันมีจำนวนแรงงานราว 40 คน อย่างไรก็ดีภาพรวมของกิจการยังอยู่ในระดับเสถียรภาพและสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้ ถึงแม้ว่าวัตถุดิบส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในรัสเซียจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศและได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรข้ามปัญหาอุปสรรคได้คือ การรักษาเสียรภาพการผลิต คำนึงผลประโยชน์ของแรงงานและการจัดหาสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1252225/vietnamese-enterprises-stay-firm-in-face-of-economic-turmoil-in-russia.html