เกาหลีใต้แบ่งปันความเชี่ยวชาญทางการค้าให้กับสปป.ลาว

สปป.ลาวจะสามารถเพิ่มโอกาสในการส่งออกผ่านโครงการแบ่งปันความรู้ของสาธารณรัฐเกาหลี (KSP)  ตามนโยบายและแผนปฏิบัติการเชิงปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและเพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพระดับโลกที่เกิดในสปป.ลาว นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีเซสชั่นการสร้างขีดความสามารถในเกาหลีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมอีกด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ดร. มโนทอง วงษ์ไซ ที่ปรึกษาอาวุโส KSP กล่าวว่า “รัฐบาลสปป.ลาวตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้าสปป.ลาวโดยส่งเสริมการผลิตในประเทศที่ผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าด้วยกันเพื่อกระตุ้นการส่งออก โครงการนี้สามารถสนับสนุนกระทรวงให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์สำหรับปี 2564-2568 และ 2573 ตลอดจนช่วยให้ SMEs สปป.ลาวมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายระดับชาติเพื่อเพิ่มอัตราส่วนการค้าต่อ GDP เป็นร้อยละ 70 และปริมาณการส่งออกเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2568

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_S_Korea_20.php

การค้าระหว่าง กัมพูชา-เวียดนาม ใกล้แตะหมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2021

ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแตะ 9.3 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดก็ตาม ด้านนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม Bui Thanh Son ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ และตกลงที่จะร่วมมือและรักษาโมเมนตัมนี้ไว้ ซึ่งทั้งคู่ตั้งเป้าการค้าไว้ที่มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022 รวมถึงทำการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างเวียดนามและกัมพูชาอีกครั้ง ด้านการลงทุนในปี 2021 บริษัทสัญชาติเวียดนามทุ่มเงินกว่า 88.9 ล้านดอลลาร์ ในโครงการใหม่ 4 โครงการ ที่จัดตั้งในกัมพูชา ส่งผลทำให้เวียดนามมีการลงทุนในกัมพูชารวมกว่า 2.84 พันล้านดอลลาร์

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501015577/cambodia-vietnam-trade-volume-inches-closer-to-10-billion-in-2021/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน แตะ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา รายงานถึงมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนแตะ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังจีนมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ในทางกลับกันได้ทำการนำเข้าสินค้าจากจีนมีมูลค่า 9.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน ได้แก่ ข้าวสาร มะม่วง มันสำปะหลัง เป็นสำคัญ โดยการนำเข้าของกัมพูชาจากจีนส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและวัสดุก่อสร้าง เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันทั้งสองประเทศได้เริ่มดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีนี้ เพื่อเป็นการปูทางที่จะเพิ่มกิจกรรมการค้าและโอกาสการลงทุนระหว่างกันในอนาคต

ที่มา:https://www.khmertimeskh.com/501015097/cambodia-china-trade-tops-11-billion-last-year/

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกน้ำตาล 100,000 ตัน ไป เวียดนาม ในฤดูกาลนี้

Myanmar Sugar and Cane Related Products Association เผย เมียนมาตั้งเป้าส่งออกน้ำตาลประมาณ 100,000 ตันไปยังเวียดนามในฤดูเก็บเกี่ยวนี้ โดยผ่านทางทะเล ขณะที่ปีที่แล้วสามารถส่งออกได้ถึง 160,000 ตัน ที่ลดลงเหลือ 100,000 ตัน เนื่องจากผลอ้อยในประเทศน้อยลงและราคาอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้น ปีที่แล้วราคาอ้อยอยู่ที่ 42,000-43,000 จัตต่อตันเท่านั้น ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้นทุนในการเพาะปลูกที่สูงขึ้น จึงลดการปลูกในปีนี้ลง กระทบให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 จัตต่อตัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปีที่แล้วพื้นที่ในการปลูกอ้อยครอบคลุมพื้นที่ 450,000 เอเคอร์ของทั้งประเทศ แต่ปีนี้เหลือเพียง 430,000 เอเคอร์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-targets-to-export-100000-tonnes-of-sugar-to-viet-nam-this-sugarcane-season/#article-title

“บ้านปู” ลุยซื้อโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในเวียดนาม

บริษัท บ้าน ปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงาน ได้ลงนามเข้าลงทุนโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 26.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโรงงานดังกล่าวอยู่ในจังหวัดซาลาย (Gai Lai) และนิญถ่วน (Ninh Thuan) ด้วยกำลังการผลิต 15 และ 35 เมกะวัตต์ ตามลำดับ อีกทั้ง โรงงานทั้งสองแห่งได้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (FiT) มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 0.0935 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ และมีสัญญาซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งข้อตกลงข้างต้นนั้น ทรัพย์สินจะโอนไปยังบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd (BRES) ที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1120843/thai-company-buys-two-more-solar-plants-in-viet-nam.html

‘เวียดนาม’ เผยเดือน ม.ค. ขาดดุลการค้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค. ปี 2565 เวียดนามขาดดุลการค้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเช้ามีมูลค่า 29.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.6% ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญเหรียญ มีอยู่ 4 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 46.8% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยวัตถุดิบการผลิตเป็นสินค้านำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุด และจีนเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม อย่างไรก็ดี ในเดือน ม.ค. เวียดนามเกินดุลการค้ากับตลาดสหภาพยุโรป 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-sees-trade-deficit-of-500-million-usd-in-january/221508.vnp

ชี้ช่องใช้ประโยชน์ RCEP ส่งออกตลาด เกาหลี-มาเลเซีย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เร่งรัดให้หน่วgdยงานภาครัฐดำเนินการกระบวนการภายในในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP กับเกาหลีใต้และมาเลเซียที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ สำหรับเกาหลีใต้จะยกเว้นภาษีสินค้าให้ไทย 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยยกเว้นภาษีทันที 7,843 รายการ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และเปิดตลาดเพิ่มเติม 413 รายการ  ส่วนมาเลเซียจะยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าให้ไทย 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยวันที่ 18 มีนาคม 2565 จะยกเว้นภาษีทันที 6,590 รายการ

ที่มา:  https://www.naewna.com/business/632118

ผลสำรวจ JETRO ชี้ ‘บ.ญี่ปุ่น’ เกินครึ่งบอกต้องการขยายกิจการในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลสำรวจพบว่ากิจการญี่ปุ่นในเวียดนามส่วนใหญ่ 55% เล็งขยายธุรกิจในประเทศอีก 1-2 ปีข้างหน้า จากความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่น 4,600 รายที่ดำเนินกิจการ 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงบริษัทที่ดำเนินกิจการในเวียดนาม 700 ราย สำรวจภายในวันที่ 25 ส.ค. – 24 ก.ย.64 ผลการสำรวจชี้ว่ากิจการญี่ปุ่นในเวียดนาม 42.5% คงอัตราการผลิต ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ยาวนาน แต่กิจการญี่ปุ่นเพียง 2% ตัดสินใจที่จะลดขนาดกิจการ ทั้งนี้ เวียดนามยังคงมีความได้เปรียบในเรื่องของขนาดตลาด ศักยภาพและคุณภาพของแรงงาน ตลอดจนประเด็นทางด้านกฎหมายที่มีความโปร่งใส

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/over-half-of-japanese-firms-want-to-expand-operations-in-vietnam-jetro-post919470.vov

‘โคลา-โคล่า’ ทุ่ม 136 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโรงงานในจังหวัดล็องอาน

คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจล็องอาน (Long An) ประกาศออกใบอนุญาตการลงทุนแก่บริษัท “โคคา-โคล่า” ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำอัดลมในจังหวัดล็องอาน ภาคใต้ของประเทศเวียดนาม โครงการดังกล่าว มีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 3.1 ล้านล้านดอง (136 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมฟูอันถั่น (Phu An Thanh) และถือเป็นหนึ่งในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทางหน่วยงานของจังหวัดอนุญาตเมื่อต้นปี 2565 นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว จังหวัดล็องอานเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ ด้วยเม็ดเงินราว 3.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cocacola-invests-136millionusd-factory-in-long-an/220981.vnp

รถโมบายขายน้ำมันปาล์ม เริ่ม เร่ขายแล้วในเขตย่างกุ้ง

สมาคมผู้ค้าน้ำมันของเมียนมา เผย น้ำมันปาล์มเริ่มจำหน่ายผ่านรถโมบายเคลื่อนที่ในพื้นที่เขตย่างกุ้ง ในราคาถูกกว่าราคาผ่านผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก หลังจากที่ถูกระงับชั่วคราวและกลับมาดำเนินการในวันที่ 14 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มแตะ 4,800 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ในตลาดย่างกุ้ง โดยอ้างอิงจากอัตราของธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM)  และนำมาขายในราคายุติธรรม 4,400 จัตต่อ viss ปัจจุบันราคาปรับตัวสูงขึ้นบ้างตามค่าเงินจัตที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การบริโภคน้ำมันบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ประมาณหนึ่งล้านตันต่อปี แบ่งเป็นการผลิตน้ำมันประกอบอาหารมีประมาณ 400,000 ตัน ส่วนน้ำมันปรุงอาหารประมาณ 700,000 ตัน จะนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในทุกๆ ปี

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_6840360