จับตาเศรษฐกิจเมียนมาร์ เมื่อแบรนด์หรูตบเท้าเข้ามาลงทุน

เมียนมาเหมือนหลายประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีช่องว่างระหว่างชนชั้น กลุ่ม HNWI หรือ high net worth individual เริ่มเปิดตัวมากขึ้น คือผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นเงินสดหรือเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในเมียนมาระบุเศรษฐีเหล่านี้เมีเชื้อสายจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ และมักมีสายสัมพันธ์กับผู้นำทางทหาร กับนักธุรกิจในแวดวงค้าอัญมณี หรืออุตสาหกรรมตัดไม้ขนาดใหญ่ หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 เศรษฐกิจก็เริ่มกระเตื้องอันเป็นผลจากการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู เศรษฐกิจที่โตปีละ 7% ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศโตไปด้วย อย่างไรก็ตามการผุดขึ้นของห้างสรรพสินค้าดูเน้นไปที่ผู้บริโภคระดับรากหญ้าและชนชั้นกลางมากกว่า ส่วนกลุ่มเศรษฐีก็ยังนิยมบินไปช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่ต่างประเทศ เช่น ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือไม่ก็ยุโรป เนื่องจากนาฬิกาและรถยนต์เป็นสิ่งที่แสดงฐานะทางสังคม ช่วงไม่กี่ปีมานี้ แบรนด์สินค้าหรูได้ให้ความสนใจและเริ่มเข้ามาบุกเบิก เช่น นาฬิกาแฟรงก์ มุลเลอร์ ตามด้วยร้าน Swiss Time Square ซึ่งเป็นศูนย์รวมนาฬิกาหรูหลากหลายยี่ห้อ และยังมีค่ายรถยนต์ที่มาเปิดโชว์รูม เช่น จาร์กัวร์ แลนด์โรเวอร์ บีเอ็มดับบลิว และเมอร์เซเดสเบนซ์ ยังไม่นับรวมเครื่องสำอางแบรนด์ไฮเอนด์ที่เข้ามาทำตลาด ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ตอบสนองเฉพาะกลุ่มเศรษฐี หากยังรวมถึงกลุ่มชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่เคยอพยพไปตั้งรกรากในต่างประเทศแล้วกลับมาดำเนินธุรกิจในบ้านเกิด และชนชั้นระดับกลางค่อนไปทางสูงซึ่งเป็นกลุ่มใหม่และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น สำหรับผู้ประกอบการไทยลองประเมินดูว่านอกจากอสังหาริมทรัพย์ และบริการทางการแพทย์ (โรงพยาบาลเอกชน) เรามีสินค้าหรือบริการอะไรที่พอจะดึงดูดลูกค้ากระเป๋าหนักจากเมียนมาได้บ้าง 

ที่มา: https://www.smethailandclub.com/aec-1924-id.html

ธุรกิจร้านอาหารไทย ในเมียนมา (2)

การทำธุรกิจร้านอาหารสมัยนี้หรือที่ต่างประเทศ จำเป็นต้องรอบรู้ และใช้หลักการคิดแบบคนรุ่นก่อนไม่ได้ที่อาศัยความอดทน ขยัน ทำงานกันเป็นครอบครัว ซึ่งระบบเก่าไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในยุคปัจจุบัน แนวคิดคือต้องแบ่งต้นทุนออกเป็นสองส่วนคือ หนึ่งต้นทุนคงที่ คือไม่ว่าคุณจะขายมากขายน้อย ต้นทุนนั้นก็จะเท่าเดิม แล้วนำมาหารจากมูลค่าการขาย เช่น ค่าเช่าร้านค้า หากจ่ายเดือนละหนึ่งหมื่นบาท รายรับจากการขายเดือนละหนึ่งแสนบาท คิดเป็น 10% ถ้าขายได้สองแสนบาท ค่าเช่าจะเหลือแค่ 5% เท่านั้น ต้นทุนอีกประเภทคือต้นทุนผันแปร ต้นทุนนี้จะแปรผันตามยอดขาย ยิ่งขายดี ยิ่งต้องจ่ายเยอะ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสด (Food Costs) เมื่อขายดีขึ้นเราต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสดมากขึ้นเป็นตามไปด้วย หลังจากนั้นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้และตั้งสมมติฐานว่ายอดขายได้ 100% ปัจจัยค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ 1) ค่าวัตถุดิบอาหารสด ต้องประมาณ 30-35% หากน้อยไปอย่าชะล่าใจ นั่นหมายความว่า เราเอาสินค้าไม่ได้คุณภาพมาบริการลูกค้าแล้วลูกค้าจะไม่กลับมาอีก 2) ค่าเช่าร้าน จะต้องอยู่ประมาณ 10-15% โดยประมาณ อย่าสูงกว่านี้ 3) ค่าแรงงาน ควรจะประมาณ 15-20% ส่วนนี้ต้องรวมค่าแรงคนในครอบครัวไปด้วย 4) ค่าภาษี ควรจะเตรียมไว้ 10% 5) ค่าน้ำค่าไฟ ควรจะมีไว้ 5% 6) ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น ค่าของแตกหัก ค่าเสื่อมราคาเครื่องมือ อยู่ที่ 10% 7) ค่าต้นทุนการเงิน หากไม่กู้มาเราเสียโอกาสในดอกเบี้ยเงินฝากไป หากกู้มาเราก็ต้องจ่าย ดังนั้นควรมี 5% รวมแล้วประมาณ 85-100% ดังนั้นหากคุมงบไม่ได้ไปต่อไม่ได้อย่างแน่นอน

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/news/570552

ธุรกิจร้านอาหารไทยในเมียนมา (1)

พูดถึงอาหารไทยในเมียนมานั้น แม้จะมีชายแดนอยู่ติดกับไทยแต่อาหารจะแตกต่างจากอาหารไทย โดยได้รับอิทธิพลจากอินเดียมากกว่าไทย ในอดีตจะหาทานอาหารไทยในย่างกุ้งยากมาก จะมีร้านอยู่ไม่เกินสิบร้านที่ให้บริการอาหารไทยแท้ๆ เช่น ร้านสีลม ร้านไพลิน ร้านบางกอก เป็นต้น ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยเปิดกันกันเยอะมาก เพราะมีทัวร์จากไทยเข้าไปไหว้พระมากกว่าแต่ก่อนเยอะ ส่วนด้านการลงทุน โดยมากที่นี่จะตกม้าตายกันที่ค่าเช่าร้านเพราะค่าเช่าที่นี่แพงมาก หากรายได้ไม่ดีจริงอยู่ไม่ได้แน่นอน ซึ่งถ้าจะทำร้านอาหารควรจะทำให้มีคลาสหรือการเจาะตลาดผู้บริโภคระดับบนไปเลย เมื่อดูเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคที่นี่จะแบ่งระดับได้อย่างชัดเจน คนรวยจะรวยมาก คนจนก็จนติดดินมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับสูง เริ่มจากการตกแต่งร้านต้องสวยงาม มีห้อง VIP ไว้คอยต้อนรับแขกมีระดับ อาหารดูดี ตกแต่งจานอย่างสวยงาม วัตถุดิบมีคุณภาพ รสชาติอร่อย และสุดท้ายบริการต้องดี ชาวเมียนมาเวลาจะเชิญผู้เขียนไปทานข้าวมักจะเป็นร้านอาหารไทยที่มีระดับ อีกย่างที่ต้องคอยระวังคือ ไม่ควรทำบุฟเฟต์ เพราะคนเมียนมาจะทานเยอะมาก ผู้เขียนเคยทำร้านอาหารหมูกระทะ ขายดีมาก มีลูกค้า 200-300 คนต่อวัน แต่ยิ่งขายเยอะ ยิ่งเจ๊งเร็ว เพราะเวลาเติมไลน์อาหารลงทั้งของคาวของหวาน ปรากฏว่าชาวเมียนมาทานหมดทุกอย่าง จนต้องปิดกิจการไปเลย

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/news/569820

4 กลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาดเมียนมา

สินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าของไทยเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับ สำหรับการนำไปขาย และควรมีการสร้างแบรนด์จึงจะสามารถตีตลาดได้ สินค้าประเภทยารักษาโรค การนำเข้าสินค้านี้ควรจำเป็นต้องศึกษากฎหมายการนำเข้าให้ดี สินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม และเสื้อผ้า โดยเฉพาะยีนส์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปตีตลาดเมียนมา สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพราะอยู่ในช่วงพัฒนาโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐาน ทำให้เครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ควรเริ่มจากการขายก่อนเพื่อดูความต้องการของตลาดจากนั้นค่อยเริ่มลงทุนธุรกิจ ข้อแนะนำ คนเมียนมาจะซื้อสินค้าจะดูที่คุณภาพเป็นหลักล้วค่อยเปรียบเทียบราคา การขอใบอนุญาติค่อนข้างยาก ค่าจดทะเบียนค่อนข้างสูง คนขายควรเป็นคนท้องถิ่น การค้าขายต่างแดนต้องใช้ความอดทนสูงในการที่สินค้าจะตีตลาด และต้องมีความโดดเด่น คุณภาพดี ถึงจะอยู่รอด

ที่มา: https://www.bangkokbanksme.com/article/25632

18 สิงหาคม 2561

เทคนิคเพิ่มยอดขายสินค้าใน “เมียนมา”

จากการเพิ่มค่าแรงของรัฐบาลเป็น 126 บาทต่อวัน เพิ่มจากปี 2558 ถึง 33% ย่อมส่งผลต่อราคาสินค้า สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการแข่งขันที่สูงของ SME ไทยด้วยกันและคู่แข่ง จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ดังนั้นเทคนิคการเพิ่มยอดขายทั้ง 5 กลยุทธ์นี้เป็นสิ่งที่ SME ไทยควรนำไปปรับใช้คือ ขยายสายการผลิต เพิ่มสายการผลิต ออกแบบสินค้าที่หลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้า ขยายส่วนแบ่งตลาดภายในตลาดเดิม หาคำตอบให้ได้ว่าลูกค้าไม่เลือกสินค้าเราเพราะอะไร นำมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มให้ได้ ขยายตลาดไปยังนอกประเทศเมียนมา ด้วยเมียนมาถูกขนาบด้วยจีนและอินเดียที่ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาด และอาจได้เห็นโลจิสติกส์หลักในการเชื่อมโยงไทย-เมียนมา-อินเดียเข้าด้วยกัน เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มทางเลือกมากกว่าหน้าร้านขาย โดยเพิ่มสื่อทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่น facebook หรือ LINE@ พัฒนาบริการหลังการขาย ยกระดับโดยการประกันและการให้ข้อมูลสินค้า

ที่มา: https://www.bangkokbanksme.com/article/22539

28 มีนาคม 2561

เดินเกมค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมา

ร้านค้าปลีกและค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นที่น่าจับตามองภายหลังอนุญาตให้ทุนต่างชาติครองสัดส่วนการถือหุ้นได้ 100% ใกล้เคียงกับไทยและเวียดนาม เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมและราคาที่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค เพราะการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางจาก 9% เป็น 15% ในปี 63 อัตราการค้าปลีกเติบโตในปี 55 – 60 ปีละกว่า 8% ทำให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนรวมกับบริษัทท้องถิ่นในรูปแบบร้านค้าปลีกอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ (modern grocery store) บริษัทค้าปลีกมีแนวโน้มที่แข่งขันรุนแรงขึ้นหลังจากบริษัทต่างชาติสามารถลงทุนได้เต็มรูปแบบ ร้านค้าปลีกที่มีโอกาสเติบโตสูงคือ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เน้นประเภทอาหารพร้อมทานแทน เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่เน้นความสะดวกและมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทั้งนี้ ความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเมียนมาในย่างกุ้งและมัณฑะ พบว่าผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญด้านรสชาติและคุณภาพมากขึ้นซึ่งสูงกว่าด้านราคา ส่งผลให้สินค้านำเข้าเป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการนำเสนอสินค้าตราห้าง (private label) ถึงแม้ว่าสินค้าจากบริษัทชื่อดังของโลกอย่าง Coca Cola, Unilever หรือ Nestle แต่พบว่า 32% ของสินค้าที่วางขายซึ่งมีทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ราว 16% เชื่อได้ว่าสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำได้ โดยเฉพาะสินค้าจากไทยที่ชาวเมียนมาเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและราคาที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสินค้าจากยุโรปหรือญี่ปุ่น แต่ความเสี่ยงของผู้ประกอบการคือ ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง ไฟฟ้าที่ไม่เสถียรและไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการหาพันธมิตรบริษัทขนส่งของเมียนมา รวมถึงพัฒนาระบบจัดการสินค้าคงคลังและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: https://www.scbeic.com/th/detail/product/4746

เมียนมาปรับกลยุทธ์อ้าแขนรับนักลงทุน

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของเมียนมาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อผ่อนปรนไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งบริษัท Myanmar Credit Bureau Ltd. ขึ้นเป็นแห่งแรกเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ SME เข้าถึงได้ง่าย เรื่องต่อมาคือการให้ต่างชาติเข้าลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งได้ 100% จะเหลือเพียงร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ทที่คงไว้ให้กับคนท้องถิ่น ซึ่งธุรกิจค้าปลีกกำลังเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนเพราะด้วยประชากรมากว่า 54 ล้านคนและเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวถึงราว 7% ต่อปี เป็นโอกาสของผู้ประกอบไทยที่เข้าไปลงทุนหรือร่วมค้ากับตัวแทนในท้องถิ่น และปัจจุบัน EXIM BANK ได้เปิดสาขาที่กรุงย่างกุ้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการลงทุนได้อย่างมั่นใจ

ที่มา: http://www.exim.go.th/doc/adn/49741_0.pdf

5 มิถุนายน 2561

แสวงหาโอกาสการลงทุนในเมืองรองของเมียนมา

นับตั้งแต่เมียนมาออกกฎหมายว่าด้วยบริษัท (Myanmar Company Law) ที่ให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นได้ 35% ตั้งแต่สิงหาคม ปี 2561 ส่งผลให้ย่างกุ้งเมืองเศรษฐกิจสำคัญเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ราคาที่ดินพุ่งสูง ด้งนั้นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงควรศึกษาการลงทุนในเมืองรองที่สำคัญๆ เช่น เมืองมัณฑะเลย์ มีประชากรมากถึง 1.7 ล้านคน จุดเด่นคือที่ตั้งสามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับอย่างจีนและอินเดีย เมืองมะละแหม่ง จากจำนวนประชากร 1.2 ล้านคน จุดเด่นคือมีวัยแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก เหมาะแก่การตั้งฐานการผลิตและเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ สามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยลงทุนในการแปรรูปยาง เมืองมะริด อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเล เช่น ไข่มุก หรือการประมง ซึ่งผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนเยอะ และการท่องเที่ยวสะดวกเพราะเดินทางได้ทั้งจากระนองและภูเก็ต จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเจรจาหาพันธมิตรร่วมลงทุน

ที่มา: http://www.exim.go.th/doc/adn/49914_0.pdf

31 กรกฎาคม 2561

เมียนมาอนุญาตจัดตั้งบริษัทเครดิตบูโร ข่าวดีสำหรับ SMEs เมียนมา

เดือน พ.ค.61 ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาเห็นชอบจัดตั้งบริษัท Myanmar Credit Bureau Ltd. เป็นบริษัทบูโรแห่งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างสมาคมธนาคารเมียนมา (Myanmar Bank Association) กับ Asia Credit Bureau Holding จากสิงคโปร์ คาดว่าสามารถจัดตั้งได้ภายใน 1 ปีข้างหน้า เครดิตบูโรในเมียนมาส่งผลดีต่อใคร 1.สถาบันการเงินในเมียนมา การมีมีเครดิตบูโรทำให้เพิ่มความเชื่อมั่นในการปล่อยเงินกู้ 2. SMEs เมียนมา ทำให้ SMEs มีโอกาสได้รับสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของธุรกิจ 3. ภาพรวมการลงทุนในเมียนมา มีส่วนช่วยให้การจัดอันดับ Ease of Doing Business ของ World Bank ในปี 61 อยู่ในอันดับ 171 จากทั้งหมด 190 ประเทศ การจัดอันดับจะเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเมียนมา

ที่มา: https://kmc.exim.go.th/detail/20190927191138/20180725140613

ควรเลือกใช้ธนาคารไหนในเมียนมาเมื่อจะทำการค้าขายกัน

การทำธุรกรรมทางการค้ากับเมียนมาส่วนใหญ่จะเป็นการค้าชายแดน ภายหลังปี 49 ที่สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรและนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นทำให้ภาคธนาคารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้จักกับธนาคารสำคัญในเมียนมาทั้ง 4 แห่งดังต่อไปนี้ 1.Myanma Economic Bank (MEB) เป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของประเทศรองจาก KBZ Bank เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับภาครัฐเป็นหลัก 2. Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) เน้นบริการทางงานเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่าย Correspondent Bank ใน 54 ประเทศทั่วโลกและเป็นธนาคารที่นิยมในการเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ 3. Myanma Investment and Commercial Bank (MICB) เน้นให้บริการหรือสนับสนุนผู้ประกอบการเป็นหลัก 4. Myanma Agricultural and Development Bank (MADB) เน้นให้บริการผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ชนบท ปัจจุบันในด้านการค้าระหว่างประเทศธนาคารของรัฐอย่าง MFTB และ MICB ควรที่จะทำความรู้จักมากที่สุดเพราะมีประสบการณ์ด้านธุรกรรมระหว่างประเทศมายาวนาน มีความน่าเชื่อถือสูง และมีโอกาสที่คู่ค้าชาวเมียนมาจะใช้บริการทางการเงินจากทั้ง 2 ธนาคารนี้

ที่มา: http://www.exim.go.th/doc/newsCenter/49462.pdf