รถไฟจีน-สปป.ลาว” มองโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

โดย Marketeer Team

รถไฟจีน-สปป.ลาว จะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยรถไฟสายนี้เชื่อมคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์ของ สปป. ลาวเข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร (แบ่งเป็นระยะทาง 598 กิโลเมตรในจีน และ 422 กิโลเมตรใน สปป. ลาว) สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสำหรับการบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนขบวนขนส่งสินค้าต่อวันที่สูงกว่าขบวนขนส่งผู้โดยสาร

การค้าระหว่างไทยกับจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังจีนผ่านทางถนนซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด มีการขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มิติใหม่ของการขนส่งด้วยรถไฟไปจีนผ่านช่องทาง จ. หนองคาย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทยด้วยความสามารถในการช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงนับว่ารถไฟที่เกิดขึ้นสายนี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟยังบรรจบกับเส้นทางหลักของไทยที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งก็คือ เส้นทาง R3A ผ่านทาง จ. เชียงราย ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป. ลาว ดังนั้น รถไฟสายใหม่นี้จึงน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าไทยผ่านช่องทางดังกล่าวขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ รถไฟจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งออกของไทยไปยังจีน ด้วยรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนให้เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ยูนนานจะเป็นประตูที่เปิดโอกาสสำหรับสินค้าไทยสู่จีนตะวันตก โดยเฉพาะไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ (New Production Hub) และรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการพัฒนาความเป็นเมือง นอกจากนี้ ยูนนานยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่หลายแห่งในจีนด้วยรถไฟความเร็วสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันจีนมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางไปยังเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป ดังนั้น ในระยะข้างหน้า การขนส่งทางรางจะเป็นโหมดการขนส่งศักยภาพของสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างยุโรปซึ่งเดิมมีการขนส่งทางเรือเป็นหลักเท่านั้น และอาจจะเป็นช่องทางในการแสวงตลาดใหม่อย่างเอเชียกลางได้ในอนาคต

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/239559