‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง
ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่ เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519
ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์
แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้