ภาคอุตสาหกรรม ‘เวียดนาม’ เผย เดือน ม.ค. ผลผลิตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ตามโมเมนตัมของภาคอุตสาหกรรมเวียดนามเติบโตขึ้นในเดือนม.ค. เป็นผลมาจากแนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตามีทิศทางดีขึ้นต่อไป ตลอดจนผลผลิตเพิ่มขึ้นและยอดคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม รายงานของไอเอชเอส มาร์กิต (IHS Markit) เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ สำหรับในส่วนของดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.7 ในเดือนม.ค. จากระดับ 52.5 ในเดือนธ.ค. บ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีสัญญาฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนแรกของปี เนื่องจากความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น คือค่าระวางเรือและค่าขนส่งระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-manufacturing-sector-sees-sharper-rises-in-output-in-jan/

ข้อตกลงการค้าเสรี โมเมนตัมเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ ปี 65

ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อาทิความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. คาดว่าจะกลายมาเป็นแรงผลักดันใหม่ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับปรุงความสามารถทางการแข่งขันและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาดระหว่างประเทศและใช้โอกาสอย่างเต็มที่ในบริบทใหม่ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามลงนามนั้น ถือเป็นประตูเปิดสำหรับการค้าในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกและเครือข่ายการผลิต ทั้งข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP, EVFTA และ UKVFTA เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ftas-momentum-for-vietnams-economy-in-2022/221551.vnp

การค้าระหว่าง กัมพูชา-เวียดนาม ใกล้แตะหมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2021

ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแตะ 9.3 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดก็ตาม ด้านนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม Bui Thanh Son ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ และตกลงที่จะร่วมมือและรักษาโมเมนตัมนี้ไว้ ซึ่งทั้งคู่ตั้งเป้าการค้าไว้ที่มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022 รวมถึงทำการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างเวียดนามและกัมพูชาอีกครั้ง ด้านการลงทุนในปี 2021 บริษัทสัญชาติเวียดนามทุ่มเงินกว่า 88.9 ล้านดอลลาร์ ในโครงการใหม่ 4 โครงการ ที่จัดตั้งในกัมพูชา ส่งผลทำให้เวียดนามมีการลงทุนในกัมพูชารวมกว่า 2.84 พันล้านดอลลาร์

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501015577/cambodia-vietnam-trade-volume-inches-closer-to-10-billion-in-2021/

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกน้ำตาล 100,000 ตัน ไป เวียดนาม ในฤดูกาลนี้

Myanmar Sugar and Cane Related Products Association เผย เมียนมาตั้งเป้าส่งออกน้ำตาลประมาณ 100,000 ตันไปยังเวียดนามในฤดูเก็บเกี่ยวนี้ โดยผ่านทางทะเล ขณะที่ปีที่แล้วสามารถส่งออกได้ถึง 160,000 ตัน ที่ลดลงเหลือ 100,000 ตัน เนื่องจากผลอ้อยในประเทศน้อยลงและราคาอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้น ปีที่แล้วราคาอ้อยอยู่ที่ 42,000-43,000 จัตต่อตันเท่านั้น ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากต้นทุนในการเพาะปลูกที่สูงขึ้น จึงลดการปลูกในปีนี้ลง กระทบให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 จัตต่อตัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปีที่แล้วพื้นที่ในการปลูกอ้อยครอบคลุมพื้นที่ 450,000 เอเคอร์ของทั้งประเทศ แต่ปีนี้เหลือเพียง 430,000 เอเคอร์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-targets-to-export-100000-tonnes-of-sugar-to-viet-nam-this-sugarcane-season/#article-title

“บ้านปู” ลุยซื้อโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในเวียดนาม

บริษัท บ้าน ปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงาน ได้ลงนามเข้าลงทุนโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 26.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโรงงานดังกล่าวอยู่ในจังหวัดซาลาย (Gai Lai) และนิญถ่วน (Ninh Thuan) ด้วยกำลังการผลิต 15 และ 35 เมกะวัตต์ ตามลำดับ อีกทั้ง โรงงานทั้งสองแห่งได้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (FiT) มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 0.0935 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ และมีสัญญาซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งข้อตกลงข้างต้นนั้น ทรัพย์สินจะโอนไปยังบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd (BRES) ที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1120843/thai-company-buys-two-more-solar-plants-in-viet-nam.html

‘เวียดนาม’ เผยเดือน ม.ค. ขาดดุลการค้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค. ปี 2565 เวียดนามขาดดุลการค้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเช้ามีมูลค่า 29.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.6% ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญเหรียญ มีอยู่ 4 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 46.8% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยวัตถุดิบการผลิตเป็นสินค้านำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุด และจีนเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม อย่างไรก็ดี ในเดือน ม.ค. เวียดนามเกินดุลการค้ากับตลาดสหภาพยุโรป 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-sees-trade-deficit-of-500-million-usd-in-january/221508.vnp

ผลสำรวจ JETRO ชี้ ‘บ.ญี่ปุ่น’ เกินครึ่งบอกต้องการขยายกิจการในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลสำรวจพบว่ากิจการญี่ปุ่นในเวียดนามส่วนใหญ่ 55% เล็งขยายธุรกิจในประเทศอีก 1-2 ปีข้างหน้า จากความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่น 4,600 รายที่ดำเนินกิจการ 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงบริษัทที่ดำเนินกิจการในเวียดนาม 700 ราย สำรวจภายในวันที่ 25 ส.ค. – 24 ก.ย.64 ผลการสำรวจชี้ว่ากิจการญี่ปุ่นในเวียดนาม 42.5% คงอัตราการผลิต ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ยาวนาน แต่กิจการญี่ปุ่นเพียง 2% ตัดสินใจที่จะลดขนาดกิจการ ทั้งนี้ เวียดนามยังคงมีความได้เปรียบในเรื่องของขนาดตลาด ศักยภาพและคุณภาพของแรงงาน ตลอดจนประเด็นทางด้านกฎหมายที่มีความโปร่งใส

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/over-half-of-japanese-firms-want-to-expand-operations-in-vietnam-jetro-post919470.vov