กระทรวงเกษตรฯ กัมพูชาวางแผนเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน

กระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงมีแผนที่จะส่งเสริมการผลิตทุเรียนโดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงงานด้วยการสร้างมาตรฐานและจัดตั้งสมาคมชาวสวนทุเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งราคาทุเรียนที่ปลูกในท้องถิ่นนั้นสูงกว่าราคาที่ทำการนำเข้ามาส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากสวนทุเรียนที่ 10,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ต่อปี โดยภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ กำลังวางแผนและกำหนดวัตถุประสงค์ในการขยายการปลูกทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในตลาดในประเทศและในต่างประเทศ รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านเทคนิคการปลูกให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำได้มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่ปลูกทุเรียน 5,289 เฮกตาร์โดยมีผลผลิตต่อปี 36,656 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50865112/ministry-of-agriculture-plans-to-increase-durian-plantations/

กัมพูชาได้รับประโยชน์จากการกระจายการลงทุนไปยังเมียนมาที่คาดว่าจะลดลง

การปฏิวัติในเมียนมาคาดส่งผลประโยชน์เชิงบวกจากการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในเมียนมาไปยัง กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย และไทย เป็นสำคัญจากปัจจัยสนับสนุนทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งจากรายงานผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยไปยังเมียนมาคาดว่าจะลดลงสูงสุด 9.6 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองของเมียนมา ซึ่งผลกระทบจากการปฏิวัติในเมียนมา 100 วันหลังการปฏิวัติครั้งที่ 4 โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย (MIN AUNG HLAING) ได้คาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาในปี 2021 จะติดลบร้อยละ 10 ถึงลบร้อยละ 20 โดยไตรมาส 1/2021 เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวร้อยละ 2.5 สูญเสีย FDI กว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีปริมาณการว่างงานกว่า 6 แสนคน ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าร้อยละ 18 (24/5/2564) และรายได้ของครัวเรือนเมียนมาลดลงถึงร้อยละ 83 ส่วนราคาน้ำมันเพิ่มร้อยละ 15 ราคาข้าวขายปลีกเพิ่มร้อยละ 35 ทั้งนี้ FDI ของเมียนมาที่ลดลงจะอยู่ในกลุ่ม พลังงาน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ น้ำมันและก๊าซ ขนส่ง และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50864456/cambodia-stands-to-benefit-from-fdi-diversion-as-exports-to-myanmar-expected-to-drop/

ADB คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตถึงร้อยละ 4 ในปีนี้ และเติบโตที่ร้อยละ 5.5 ในปีถัดไป ตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งถูกนำเสนอผ่านรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2021 ที่ ADB เป็นผู้จัดทำ โดยได้คาดการณ์ว่าภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมของประเทศจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 7.1 ในปีนี้ และร้อยละ 7 ในปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการประกอบจักรยาน ซึ่งภาคการเกษตรคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ในปี 2021 และร้อยละ 1.2 ในปี 2022 ในขณะที่ภาคบริการต่างๆ อาจฟื้นตัวช้ากว่าโดยขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2021 และร้อยละ 6.2 ในปี 2022 ภายใต้ความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50864730/cambodian-economy-can-grow-by-four-percent-this-year/

กัมพูชาวางแผนเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจภายในประเทศลดพึ่งพาการนำเข้า

ภาคการเกษตรของกัมพูชาโดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ และเป็ด กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตและขยายตัวรายงานโดยประธานสมาคมผู้ปรับปรุงพันธุ์สัตว์แห่งกัมพูชา ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์ต่อภาคการเกษตร รัฐบาลจึงสนับสนุนโครงการให้กู้ยืมพิเศษผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา ตลอดจนสถาบันให้กู้ยืมอื่น ๆ แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยคาดว่าสิ่งนี้จะทำให้ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์จากต่างประเทศลง รวมถึงเป็นการลดความผันผวนของราคาภายในประเทศจากความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน ซึ่งยังส่งผลดีในการควบคุมโรคจากสัตว์ ยกตัวอย่างในกรณีที่เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในภูมิภาค ที่เวียดนามกำลังประสบปัญหาการระบาดของโรค ASF อยู่หลายครั้งโดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม มีการบังคับให้คัดแยกสุกรกว่า 43,150 ตัว ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2020 ส่งผลทำให้ราคาสุกรในประเทศกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50863218/domestic-husbandry-reduces-reliance-on-imports/

การพัฒนาของจีนสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจกัมพูชา

ด้วยการคาดการณ์การพัฒนาของจีนที่อาจจะส่งผลผลักดันการเติบโตภายในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจากการแพร่ระบาดยังคงขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างจีนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกที่ลงทุนมายังกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 48 สู่ระดับ 846 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2015 ตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดย FDI คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกัมพูชา ซึ่งหากคิดจากปี 2020 กัมพูชาได้รับการลงทุนโดยตรงจากจีนมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 860 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 3.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 โดยการเติบโตของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจขึ้นอยู่กับว่าจีนฟื้นตัวได้ดีเพียงใดในปีนี้ เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งทางด้านมูลค่าการลงทุน ไปจนถึงปริมาณการลงทุนภายในภูมิภาค เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50863169/economic-recovery-linked-to-chinese-development/

EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594

กัมพูชาพลักดันการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้เรียกร้องให้ลูกค้าและผู้ค้าปลีกใช้ประโยชน์จาก e-wallets และแอพต่างๆ เช่น Bakong เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางการกัมพูชามองว่าดิจิทัลแบงกิ้งจะมีส่วนช่วยลดจำนวนการแพร่ระบาดลงได้โดยลดความจำเป็นในการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลลง ซึ่ง NBC ยังสนับสนุนให้ธนาคารและสถาบันหลักๆ ภายในประเทศให้สิ่งจูงใจแก่ผู้บริโภคและธุรกิจที่เลือกทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการจับธนบัตรและแนะนำให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดหลังจากได้สัมผัสเงิน โดยจากข้อมูลของ NBC ปัจจุบันชาวกัมพูชามากกว่าร้อยละ 59 ทำธุรกรรมช่องทางออนไลน์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50862261/customers-and-retailers-urged-to-pay-online-to-help-prevent-covid-19-spread/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกรวมกว่า 4.1 ล้านตัน

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรประมาณกว่า 4.1 ล้านตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมง ซึ่งเป็นการส่งออกข้าวเปลือกมากที่สุดจำนวน 1.6 ล้านตัน มันสำปะหลัง 1.2 ล้านตัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 800,000 ตันและข้าวโพด 134,000 ตัน ส่วนสินค้าส่งออกอื่น ๆ ได้แก่ ถั่ว 11,000 ตัน กล้วย 197,588 ตัน ส้มโอ 21,118 ตัน มะม่วง 152,090 ตัน น้ำมันปาล์ม 19,916 ตัน พริกไทย 6,800 ตัน พริก 56,500 ตัน และแยมมะม่วง 10,500 ตัน โดยตลาดหลักสำคัญสำหรับสินค้าเกษตรของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป ประเทศในกลุ่มอาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50862233/4-1-million-tonnes-of-agricultural-products-exported-in-first-five-months/