นักเศรษฐศาสตร์ ชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เวียดนามจำเป็นต้องมีการลงทุนภาครัฐที่แข็งแกร่ง

ตามรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดข้อบกพร่องหลายอย่าง โดยตั้งแต่ปี 2545-62 การลงทุนภาครัฐ มีส่วนแบ่งจาก GDP ลดลงจาก 22% มาอยู่ที่ 11% ขณะที่ความต้องการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐ อยู่ที่ 257.38 ล้านล้านดอง (11.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือประมาณ 55.8% ของเป้าหมายทั้งปี นอกจากนี้ ประเด็นโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 4 ในเวียดนาม ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมทั่วประเทศที่ต้องเผชิญกับมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP เหลืออยู่ที่ 2%-2.5% ปีนี้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/economy/item/10770502-vietnam-s-growth-and-recovery-require-strong-public-investment-economists.html

 

‘เวียดนาม’ เผยรายได้ต่ำ ระมัดระวังมากขึ้น รัดกระเป๋าแน่น!

ผลการสำรวจของ YouGov เปิดเผยว่าผู้คน 48% มีรายได้ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 และมากกว่าครึ่งหนึ่งลดการใช้จ่ายลง โดยหัวข้อในการสำรวจใช้ชื่อว่า “โควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเงินส่วนบุคคลในเวียดนามได้อย่างไร” ผู้บริโภคชาวเวียดนามในปัจจุบันมีความรอบคอบมากที่สุดในโลก กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 (67%) ระมัดระวังเรื่องการเงินส่วนบุคคลมากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 34% ให้ความสำคัญกับการบริหารทางการเงินในครัวเรือน กรณีใช้ในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ YouGov Vietnam ชี้ว่าตามข้อมูลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวคิดทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นสำหรับการบริหารทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความรอบคอบทางการเงิน

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/less-income-more-prudence-covid-hit-vietnamese-world-class-in-tightening-purse-strings-4385249.html

 

‘สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม’ ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ปี 65 โต 6%-6.5%

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม (NA) พิจารณารับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีหน้า ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 6%-6.5% โดยการลงมติดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนแก้ไขปัญหาในการทำธุรกิจและช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามต้องใช้ข้อได้เปรียบจากโอกาสทั้งหมด เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ทางสมัชชาแห่งชาติ ได้ตั้งเป้ารายได้ต่อหัวที่ 3,900 เหรียญสหรัฐ, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 4% และอัตราการว่างงานในเมืองต่ำกว่า 4%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/na-approves-2022-gdp-growth-target-at-6-6-5/

 

‘ธุรกิจเวียดนาม-เช็ก’ แนะใช้ EVFTA อย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมโต๊ะกลมของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจและผู้บริหารธุรกิจระหว่างเวียดนาม-สาธารณรัฐเช็ก ณ กรุงปราก เมื่อวันที่ 10 พ.ย. มีมุมมองว่าธุรกิจเวียดนามและสาธารณรัฐเช็ก ควรยกระดับความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสสูงสุดจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EVFTA) และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVIPA) ทั้งนี้ แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยอดการค้าระหว่างเวียดนามกับสาธารณรัฐเช็ก เพิ่มขึ้น 22% ในปีที่แล้ว มีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การค้าทวีภาคีเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นมูลค่า 936 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากผลประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสาธารณรัฐเช็กยังคงกังวลกับปัญหาหลายอย่าง ได้แก่ นโยบายการดึงดูดการลงทุนของเวียดนามและความซับซ้อนของการบริหาร ตลอดจนคุณภาพของสินค้าส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสาธารณรัฐเช็กและยุโรป

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-czech-businesses-advised-to-effectively-utilise-evfta-904323.vov

 

‘ธุรกิจเยอรมัน’ มองทิศทางดีต่อเศรษฐกิจเวียดนาม

ตามรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 64 “AHK World Business Outlook 2021” เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่าธุรกิจเยอรมันในเวียดนามส่วนใหญ่ 55% มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจในปีหน้า เมื่อถามถึงประเด็นการค้าการลงทุน ชี้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 83% ยังคงลงทุนขยายกำลังการผลิต หรืออัพเกรดโรงงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ 30% วางแผนที่จะเปิดรับสมัครแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและการบริโภคที่ปรับตัวลดลง ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของธุรกิจเยอมันในเวียดนาม โดยกลุ่มตัวอย่าง 42% เผชิญกับปัญหาการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง ตลอดจนปัญหาอื่นๆ อาทิ นโยบายเศรษฐกิจ กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การปิดชายแดนและการยกเลิกกิจกรรมการค้า เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/german-firms-in-vietnam-optimistic-about-future-prospects-904337.vov

 

‘ธุรกิจยุโรป’ มีมุมมองที่ดีต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเวียดนาม

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมองในแง่ดีต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเวียดนาม หลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และการค้า การลงทุนกลับเข้าสู่สภาวะปกติใหม่ ตามรายงานของดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (BCI) ในไตรมาสสามของปีนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 18.3 จุด ถือเป็นการขยับเพิ่มขึ้นสามจุดจากที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ระดับ 15 จุด ในช่วงการเกิดการระบาดระลอกที่ 4 จากโควิด-19 เดือน ก.ย. ถึงแม้ว่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ดัชนี BCI มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจเวียดนาม ทั้งนี้ ตามผลการสำรวจ พบว่าสมาชิกหอฯส่วนใหญ่ 49% คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสหน้าและมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม สมาชิหอฯ ยังคงกังวลต่อการลงทุนและผลกำไรในอนาคต

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/european-businesses-optimistic-about-vietnams-business-environment/

นิคเคอิ ชี้เวียดนามเป็นผู้นำการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวนิคเคอิของญี่ปุ่น รายงานว่าซัพพลายเชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงเร่งการฟื้นตัวอย่างเต็มกำลัง หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมาได้ปิดโรงงานและลดกำลังการผลิตลง รวมถึงเวียดนามกำลังจะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว โดยโรงงานประมาณ 200 แห่งที่ดำเนินสัญญาว่าจ้างผลิตชุดกีฬาให้กับบริษัทไนกี้ “Nike” ได้กลับมาดำเนินกิจการแล้ว ขณะที่ในส่วนของผู้บริหารเขตอุตสาหกรรมในโฮจิมินห์อ้างว่าให้ความช่วยเหลือโรงงานทั้งสองบริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกและอินเทล ให้กลับมาผลิตเต็มรูปแบบในเดือนนี้ ทั้งนี้ Furukawa Electric บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น คาดว่าจะกลับมาดำเนินการผลิตในเวียดนาม ด้วยโรงงาน 3 แห่ง ผลิตสายรัดสำหรับรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีโรงงานผลิตชุดสายไฟ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10745002-nikkei-vietnam-leads-recovery-in-southeast-asia-supply-chains.html