“ไอโฟน” เสียตำแหน่งท็อป 5 ตลาดสมาร์ทโฟนในเวียดนาม

แอ๊ปเปิ้ล (Apple) หลุดจากรายชื่อแบรนด์สมาร์ทโฟนชั้นนำ 5 อันดับแรกในเวียดนาม ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนแบ่งการตลาดที่มียอดขายสูงสุดในเวียดนาม ได้แก่ ซัมซุง (Samsung), ออปโป้ (Oppo), เสียวหมี่ (Xiaomi) และวิโว่ (Vivo) และวินสมาร์ท (VinSmart) ทั้งนี้ ความต้องการ ไอโฟน (iPhone) ลดลงในช่วงต้นปี เนื่องจากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์แอ๊ปเปิ้ลในเทศกาลช็อปปิ้งช่วงปลายปี ในขณะเดียวกัน กลุ่มสมาร์ทโฟนแอนดรอย (Android) จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดที่หลากหลาย และผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากกว่าไอโฟน นอกจากนี้ กรมศุลกากร เผยว่ายอดการส่งออกสินค้าสูงสุดของเวียดนาม คือ โทรศัพท์และชิ้นส่วน มีมูลค่า 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนเป็นตลาดรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมาสหภาพยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/iphone-loses-position-in-top-five-in-vietnam-31428.html

สถานการณ์การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ส่งสัญญาณเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2021 โดยปริมาณการส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 2 เดือน ข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์กัมพูชาส่งออกสินค้ารวมแล้วประมาณ 64 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันกัมพูชาได้ทำการนำเข้าสินค้ารวมประมาณ 93 ล้านดอลลาร์ จากเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 3.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนการค้าทวิภาคีระหว่างเกาหลีใต้และกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 158 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 1.1 โดยสินค้าที่กัมพูชาส่งออกไปเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ส่วนการนำเข้าหลักของกัมพูชาจากเกาหลีใต้ ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยาและผลิตภัณฑ์พลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50826608/exports-to-south-korea-increase-for-two-consecutive-months/

เวียดนามเผย ม.ค. ส่งออกแตะ 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในเดือนมกราคม 2564 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมอยู่ที่ 55 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการส่งออก 28.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบเป็นรายปี สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเวียดนามยังเติบโตในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ (6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 126 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) รองลงมาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ (1.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นต้น ในขณะที่สินค้าเกษตรและประมง ถือว่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้ นาย “Tran Thanh Hai” รองผู้อำนวยการฝ่ายนำเข้าและส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตฯ กล่าวว่าสถานการณ์การส่งออกของเวียดนามในเดือนมกราคมไปในทิศทางบวก เนื่องจากได้รับประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ส่งออกยังคงเผชิญกับความท้าทายที่เกิดมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในปีนี้ แต่เชื่อว่ายังมีทิศทางที่เป็นบวก สาเหตุสำคัญมาจากเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ CPTPP และ EVFTA รวมไปถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-export-turnover-reaches-over-28-bln-usd-in-january-28383.html

การส่งออกเวียดนาม ปี 63 เติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ‘เจโทร’ (JETRO) เปิดเผยว่าภาวะการส่งออกของ 6 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม หดตัว 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2562 ด้วยมูลค่าการส่งออกรวมที่ 1.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เจโทรระบุว่าการส่งออกของเวียดนามไปยังญี่ปุ่น ลดลง 5.2% แต่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25.7% และจีน 18% อย่างไรก็ตาม การเกินดุลการค้าของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ และการที่เวียดนามเข้ามาแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ชี้ว่านับเป็นครั้งแรกของเวียดนามที่เป็นประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน นอกจากนี้ เมื่อแยกเป็นประเทศในอาเซียน พบว่าไทยเกินดุลการค้าพุ่ง 144.5% เมื่อเทียบกับเวียดนามที่เพิ่มขึ้น 83.5%, สิงคโปร์ 43.9% และมาเลเซีย 25.6%

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-records-impressive-export-growth-in-2020/196297.vnp

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯในปี 2020 ยังคงแข็งแกร่งแม้จะเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 แต่ถึงอย่างไรการส่งออกของกัมพูชาไปยังคู่ค้าหลักอื่น ๆ ก็ยังคงลดลง จากตัวเลขของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 6.577 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมอยู่ที่ 343 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับตัวเลขของปี 2019 ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 6.921 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สำหรับการเดินทาง เป็นหลัก ส่วนกัมพูชานำเข้าสินค้าสำคัญจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯดำเนินการภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯในรูปแบบปลอดภาษี (เฉพาะสินค้าที่กำหนด)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811365/cambodian-exports-to-us-show-strength-in-2020/

ปริมาณการส่งออกสินค้าจากมาเลเซียมายังกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 42

การนำเข้าของกัมพูชาจากมาเลเซียลดลงในปี 2020 สู่ตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2016 ตามรายงานของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ของมาเลเซีย โดยการส่งออกของมาเลเซียในปี 2020 มายังกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 42 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 368.5 ล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของการระบาดในปัจจุบัน ก่อให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่โดยตรงต่อซัพพลายเชนทั่วโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตอย่างรุนแรง ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่ของกัมพูชาจากมาเลเซีย ได้แก่เชื้อเพลิงจากแร่ จำพวกถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ มูลค่ารวมมากกว่า 207 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 และจากตัวเลขของ MITI การส่งออกปิโตรเลียมในปี 2020 ลดลงกว่าร้อยละ 22 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50810440/malaysian-exports-to-cambodia-down-42-percent/

การส่งออกสินค้าผ่าน SSEZ ในกัมพูชา เพิ่มขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมา

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) รายงานการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 26.52 ในปี 2020 แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยมูลค่าสินค้าที่ส่งออกจาก SSEZ อยู่ที่ 1.556 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าหลักสำคัญในการส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า วัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ โดยรัฐบาลกัมพูชาตระหนักเสมอว่าภาคเอกชนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่ง SSEZ มีขนาด 1,113 เฮกตาร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ในจังหวัดพระสีหนุทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาประมาณ 13 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50808658/ssez-exports-increase-26-percent-in-2020/

ยอดส่งออกเวียดนาม พุ่ง 50.5% ในม.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือนมกราคม 2563 เพิ่มขึ้น 50.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 27.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ‘Samsung’ ที่ยกระดับการผลิตและส่งออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ‘Galaxy S21’ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในเดือนมกราคม มูลค่าอยู่ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 57.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่าอยู่ที่ 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 72.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เวียดนามเกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนดังกล่าว แบ่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจในประเทศขาดดุลการค้า 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (รวมถึงน้ำมันดิบ) เกินดุลการค้า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

  ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/865536/viet-nams-january-exports-up-505-per-cent-year-on-year.html

พาณิชย์ลุยแก้ปัญหาตกเขียวกระเทียม ดึงเอกชนช่วยรับซื้อกก.13.50บ.

พาณิชย์ คลอดมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือชาวไร่กระเทียม ดึงเอกชน 8 รายทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กก.ละ 13.50 บาท หลังพบตกเขียวกดราคาเหลือ กก.8 บาท พร้อมอัดมาตรการเสริม ช่วยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% เพื่อซื้อกระเทียมเก็บ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมวางแผนเชิงรุกรองรับการแก้ไขปัญหากระเทียม ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมเป็นการล่วงหน้าเพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. โดยกรมการค้าภายในได้ประสานงานกับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งเป็นทีมเซลส์แมนของจังหวัด ร่วมกับภาคเอกชนจัดให้มีการเจรจาซื้อขายกระเทียมสดในราคาที่เป็นธรรม 8 สัญญา มีภาคเอกชน 8 บริษัทเป็นผู้ซื้อและกลุ่มเกษตรกร 8 กลุ่มเป็นผู้ขาย ในราคากระเทียมสดกิโลกรัมละ 13.50 บาท ซึ่งเป็นราคาชี้นำตลาดในฤดูกาลผลิตนี้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดมาตรการเสริมในช่วงที่กระเทียมออกมาก โดยมีมาตรการชะลอขาย ถ้าเกษตรกร ผู้รวบรวมกระเทียมหรือสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชะลอขาย จะมีวงเงินช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ผู้รวบรวมกระเทียม ประมาณ 6 เดือน เมื่อราคาดีค่อยขาย ช่วยดอกเบี้ย 3% และมาตรการทางกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ โดยได้สั่งการให้กรมศุลกากร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เคร่งครัดการแก้ปัญหาลักลอบการนำเข้า ซึ่งจะนำเรื่องนี้ไปเรียนให้ที่ประชุม ครม.ทราบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 26 ม.ค.64 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ากระเทียมต่อไป  นอกจากนี้ จะเข้มงวดการออกไปอนุญาตนำเข้ากระเทียม ให้มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของกระเทียมที่นำเข้า และเข้มงวดการตรวจสอบการขนย้าย หากตรวจพบการกระทำผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/820902

MYANTRADE มีแผนตั้งศูนย์การค้าส่งออกสินค้าเกษตรในสิงคโปร์

Myanmar Trade Promotion Organization (MYANTRADE) วางแผนเปิด Myanmar Trade Center ในสิงคโปร์ในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ โดยศูนย์การค้าซึ่งจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสถานทูตเมียนมาประจำสิงคโปร์สามารถช่วยให้เมียนมาขยายการส่งออกสินค้าเกษตร สิงคโปร์นำเข้าผลไม้ เช่น Sein Ta Lone (มะม่วง) และแตงไทยจากเมียนมา ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งน้อย แม้จำนวนประชากรน้อยแต่มีกำลังซื้อสูง การนำเข้าใช้เพียงใบรับรองคุณภาพเท่านั้น ซึ่งการที่สิงคโปร์ตั้งอยู่ใกล้กับเมียนมาทำให้สามารถส่งออกสินค้าที่มีอายุในการเก็บรักษาสั้นได้ ทั้งยังส่งออกองุ่นจากยะแมสิน (Yamethin) ไปยังตลาดของสิงคโปร์ได้อีกด้วย การค้าระหว่าง 2 ประเทศมีมูลค่ามากกว่า 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 62-63 โดยเมียนมามีดุลการค้ากว่า 700 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันสิงคโปร์เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาคิดเป็น 45.85 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในภาคการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และการผลิต

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-trade-centre-open-singapore.html