‘เวียดนาม’ เผยส่งออกและนำเข้า 5 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 15.6%

ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกและนำเข้าของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 305.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 152.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.3% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9% ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 516 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกจำนวน 26 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใน 6 กลุ่มรายการสินค้าดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 89.6 ของการส่งออกรวมทั้งหมด สินค้าส่งออกเวียดนามส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าการค้าราว 76.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือจีน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/five-month-importexport-turnover-up-156-percent/229349.vnp

 

MoC เผย ปีงบประมาณย่อย 64-65 เมียนมานำเข้าสินค้าลดลง 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา (MoC) เผย มูลค่าการนำเข้าของเมียนมาระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2564-25 มี.ค.2565 ของงบประมาณย่อย ปี 2564-2565 (ต.ค.64-มี.ค.65) อยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 24 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่การนำเข้าสินค้าทุนลดลงในเดือนที่แล้ว ขณะที่กลุ่มนำเข้าอื่นๆ (สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าขั้นกลาง และธุรกิจเย็บเครื่องนุ่งห่ม หรือ CMP) เพิ่มขึ้น เมื่อเดือนที่แล้วเมียนมานำเข้าสินค้าทุน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักร ฯลฯ อยู่ที่ประมาณ 1.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่า 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 73.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า โดยประเทศที่เมียนมานำเข้าสินค้า 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/5-april-2022/#article-title

 

ค้าข้ามแดน “ไทย-กัมพูชา” โตร้อยละ 16.63 สู่มูลค่า 1.449 แสนล้านบาท

การค้าข้ามพรมแดนในปี 2021 ระหว่างไทยและกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 16.63 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.449 แสนล้านบาท รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการค้าข้ามพรมแดนของไทยเติบโตถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปี 2022 ไทยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ร้อยละ 5-7 ด้านการค้ารวมในปี 2021 ของไทยแตะ 1.71 ล้านล้านบาทในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.03 คิดเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 คิดเป็นมูลค่า 684 พันล้านบาท

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501020980/cross-border-trade-with-cambodia-jumps-16-63-percent-to-144-9-billion-baht-in-2021/

พาณิชย์เมียนมา เผย นำเข้าลดฮวบเหลือ 13.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบฯ ปัจจุบัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการนำเข้าของเมียนมาในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 63-64 ลดลงเหลือ 13.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 17.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของปีงบประมาณก่อน โดยการนำเข้าแบ่งเป็นสินค้าทุน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักร เหล็กกล้า ฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 4.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าปีงบประมาณก่อน 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงยา เครื่องสำอาง และน้ำมันปาล์ม ลดลงเล็กน้อย 82.7 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ส่วนสินค้าขั้นกลางเป็นสินค้านำเข้าเป็นอันดับสองของเมียนมา ปีนี้มีการนำเข้าวัตถุดิบลดลง เป็น 4.65 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 5.79 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งวัตถุดิบมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า Cut-Make-Pack (CMP) ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 10 อันดับประเทศที่เมียนมานำเข้ามากที่สุด ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/14-september-2021/#article-title

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 2.35 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 63

ตามรายงานของสำนักงานศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในปี 2563 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 105,000 คัน เป็นมูลค่า 2.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในแง่ของปริมาณ ลดลง 24.5% และในแง่ของมูลค่า ลดลง 25.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งในเดือนธันวาคม ปริมาณการนำเข้ารถยนต์อยู่ที่ 12,690 คัน เป็นมูลค่า 308 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแง่ของปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้น 3.7% และ 12.8% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าส่วนใหญ่ราว 88% ในเดือนสุดท้ายของปี มาจากประเทศไทย (7,696 คัน) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย (2,353 คัน) และจีน (1,158 คัน) นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ในเวียดนามพุ่งขึ้น 45% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการจัดโปรโมชั่นครั้งใหญ่ในเดือนสุดท้ายของปี และลูกค้ารีบซื้อรถยนต์ก่อนที่นโยบายภาครัฐฯ จะปรับลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 50% โดยจะหมดอายุภายในสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าในปีนี้ จะเป็นปีที่ลำบากอีกครั้ง สำหรับตลาดรถยนต์เวียดนาม สาเหตุจากผู้ประกอบการต่างๆ เลือกที่จะควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-spends-us235-billion-to-import-cars-in-2020-316043.html

เวียดนามเผยความต้องการนำเข้าอาหารทะเลที่หรูหราพุ่งสูงขึ้น

เวียดนามนำเข้าอาหารทะเลที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น อาทิ ปูยักษ์ และกุ้งล็อบสเตอร์ เป็นต้น เนื่องมาจากราคาที่ปรับตัวลดลงและคาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองตรุษญวณ (Tết) ทางรองกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่าในปีที่แล้ว การส่งออกอาหารทะเลจากอลาสก้าเพิ่มขึ้น 125% คิดเป็นมูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของสหรัฐอเมริกา อันดับที่ 6 ของโลก ด้วยมูลค่าการนำเข้า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสถาบันการตลาดอาหารทะเลอลาสก้าในเวียดนาม ระบุว่าความต้องการอาหารทะเลในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น และโรงงานแปรรูปหลายแห่งกำลังย้ายออกจากจีนไปยังเวียดนาม สาเหตุมาจากเรื่องภาษีศุลกากร นอกจากนี้ ในช่วงเทศกลาลตรุษญวณ มีความต้องการปูอลาสก้ามากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากทำอาหารได้ง่ายและเหมาะสำหรับโอกาสพิเศษ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/860872/demand-for-imported-luxury-seafood-rises.html

ผู้บริโภคชาวสปป.ลาวยังคงชื่นชอบผลผลิตทางการเกษตรที่นำเข้าจากพื่อนบ้าน

รัฐบาลสปป.ลาวยอมรับว่าชาวสปป.ลาวยังคงนิยมสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าผลผลิตที่ปลูกเองในประเทศ ตามรายงานของ Lao Post ผู้บริโภคชาวสปป.ลาวยังคงชื่นชอบผลไม้และผักบางชนิดที่นำเข้าจากประเทศไทย เวียดนามและจีนเนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อว่าคุณภาพของสินค้านำเข้าสูงกว่าผลผลิตที่ปลูกในประเทศ จากความเชื่อเช่นนี้จึงมักมีการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอย่างผิดกฎหมายหรือลักลอบเข้าประเทศ Mr.Oudone Xaymounty รองหัวหน้าสภาประชาชนนครหลวงเวียงจันทน์กล่าวว่า  “ในช่วงหลายปีมานี้ความต้องการสินค้าเกษตรที่ปลูกในสปป.ลาวไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศทำให้ต้องนำเข้าสินค้ปริมาณมากจากประเทศเพื่อนบ้าน” อย่างไรก็ตามรัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรหลังจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาและให้ความสำคัญกับภาคเกษตรมากขึ้นเพราะเป็นจะเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2021/01/11/lao-consumers-still-favor-imported-agricultural-produce/

เวียดนามนำเข้ารถยนต์เดือนพ.ย. ลดลง 11%

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) เปิดเผยว่าในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 12,237 คัน เป็นมูลค่า 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นำเข้าจากไทย อินโดนีเซียและจีน มีจำนวน 5,927 , 3,823 และ 1,204 คัน ตามลำดับ ในขณะที่ ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 92,261 คัน ลดลงร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตามตัวเลขสถิติของสำนักงานข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นมูลค่า 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาไทย 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ญี่ปุ่น 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 36,359 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยจำนวนทั้งหมด 246,768 คัน

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-car-imports-down-11-in-november-315439.html

เวียดนามเผยนำเข้าหมูพุ่ง ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศลดลง

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าการพัฒนาสายพันธุ์สุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและปริมาณการนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งและสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศลดลง โดยทางกระทรวงฯ คาดว่าผลผลิตเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3 ไปถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรในประเทศมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรมากกว่า 93,248 ตัน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากแคนาดา เยอรมัน โปแลนด์ บราซิล สหรัฐฯ สเปนและรัสเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 223 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 กระทรวงฯ ได้อนุมัติให้นำเข้าสุกรมีชีวิตจากไทยไปเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. นอกจากนี้ นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่าปัจจุบัน ต้นทุนสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 71,000 ด่องต่อกิโลกรัม ในขณะที่ กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19, ไข้หวัดหมูแอฟริกันและผสมพันธุ์สุกร เพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตสุกรมีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศจนสิ้นไตรมาสที่ 3

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pig-imports-push-domestic-pork-prices-down/182103.vnp

จ่อชงครม.ไฟเขียวแผนนำเข้าอาหารสัตว์ ปลาป่น-กากถั่ว-ข้าวโพดปี64-66

พาณิชย์ เตรียมชง “ครม.” เคาะนโยบายอาหารปี 64-66 กำหนดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งกากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนปี 61-63 โดยให้นำเข้าได้ทั้งจากสมาชิกดับเบิลยูทีโอ เอฟทีเอ และนอกเอฟทีเอ แต่ยังคงกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในสัดส่วนเดิมที่ 1 ต่อ 3 หวังไม่ให้ราคาข้าวโพดดิ่ง จากการนำเข้าข้าวสาลีที่มากขึ้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบนโยบายอาหารสัตว์ปี 64-66 แล้ว โดยจะเปิดให้นำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนกับปี 61-63   และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ กากถั่วเหลือง กำหนดการนำเข้าแบบไม่จำกัดปริมาณ ทั้งจากภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มีภาษีนำเข้าในโควตา 2% และนอกโควตา 119%, กรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษี 0%, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0% เป็นต้น และประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับไทย ภาษีนำเข้า 6% และเสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า โดยแหล่งนำเข้าใหญ่คือ บราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐ ส่วนปลาป่น กำหนดให้นำเข้าปลาป่นโปรตีน 60% แบบไม่จำกัดปริมาณ โดยการนำเข้าจากอาฟตา ภาษี 0%, ภายใต้เอฟทีเอต่างๆ เช่น อาเซียน-จีน ภาษีนำเข้า 0% เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0%, เอฟทีเอไทย-ชิลี ภาษี 0% และประเทศนอกเอฟทีเอ ภาษีนำเข้า 6% โดยแต่ละปีไทยนำเข้าจากชิลีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว โดยนำเข้าภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ปริมาณ 54,700 ตัน ภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 73% และเสียค่าธรรมเนียมตันละ 180 บาท ส่วนภายใต้อาฟตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ แต่จำกัดช่วงเวลาการนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค.ของทุกปี เอฟทีเออื่นๆ เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ภาษีในโควตา 4% นอกโควตา 65.70% เป็นต้น โดยปี 62 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอาเซียน

ที่มา: : https://www.dailynews.co.th/economic/792578