ส่งออกไทยสัญญาณดี ลุ้นปีหน้าพลิกบวกตามเศรษฐกิจโลก

“พาณิชย์”ชี้ส่งออกเริ่มฟื้นตัว เดือนต.ค.แค่ติดลบ 6.71% คาดอีก 2 เดือนยังมีแนวโน้มที่ดี โดยสินค้ากลุ่มอาหาร-อุตสาหกรรมยังเป็นดาวรุ่ง จับตาปีหน้าส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกแน่นอน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนต.ค.2563 ว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังประเทศต่างๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง โดยส่งออกเดือนต.ค. มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หดตัว 6.71% แม้จะติดลบแต่มีสัญญาณที่ดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,330.15  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.32% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2,046.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลายสินค้ามีศักยภาพในการขยายตัวแม้เผชิญกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขยายตัวในขณะนี้ อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่เมื่อโลกสามารถผลิตวัคซีนต้าน โควิด-19 ได้สำเร็จ ความต้องการสินค้าเหล่านี้อาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะนี้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้ากระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตามสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาด โดยมีการคาดการณ์ภาพรวมส่งออกไทยปีนี้น่าจะดีขึ้น หรือมีการติดลบที่น้อยลง  ตลอดทั้งปีจะติดลบที่ระดับ 7%  ส่วนปี 2564 มีแนวโน้มการส่งออกจะดีขึ้นขยายตัวเป็นบวกได้  โดยเฉพาะเมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิดออกมาใช้ได้ จะทำให้ดีมานด์สินค้าส่งออกของไทยยังไปได้ดีต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/638651

เวียดนามเผยส่งออกมะม่วงไปยังสหรัฐ พุ่ง 2 เท่า

จากรายงานของหน่วยงานการค้าต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่ามูลค่าการนำเข้ามะม่วงของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ ราคานำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,064.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้สดและผลไม้แช่แข็ง ทั้งนี้ ในแง่ของปริมาณ พบว่าเวียดนามเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ที่สุด อันดับที่ 12 ของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของยอดมูลค่าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเวียดนามจำเป็นต้องติดตามเรื่องกฎระเบียบที่เข็มงวดเกี่ยวกับการทำฟาร์ม การบรรจุหีบห่อและแหล่งกำเนิดสินค้า นอกจากนี้ การส่งออกมะม่วงของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นนั้น นับว่าเป็นไปได้ยากมากในช่วงสถานการณ์ของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ส่งผลการส่งออกทั่วโลกลดลง โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อผลผลิตทางการเกษตรของเวียดนามรายใหญ่ อันดับที่ 4 ในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.7 ของการส่งออกรวม รองลงมา จีน สหภาพยุโรปและอาเซียน

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-mangoes-export-volumnes-to-us-doubles-25849.html

สปป.ลาว-เวียดนามกระชับความสัมพันธ์การค้ามากกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีการระบาด Covid-19

มูลค่าการส่งออกของสปป.ลาวไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นในปี 63 แม้ว่าจะมีการระบาด Covid-19 ก็ตาม โดยในปี 62 มูลค่าการส่งออกจากสปป.ลาวไปเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 757.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงจาก 458 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 62 เหลือ 410 ล้านเหรียญสหรัฐใน 9 เดือนของปี 63 ในขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการค้าทวิภาคีในปี 63 โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 10-15% สินค้าหลักที่ส่งออกไปยังเวียดนาม ได้แก่ น้ำดื่ม แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่นยางพารา กาแฟ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ข้าวและวัว ด้านการนำเข้า จะเน้นกลุ่มสำคัญ เช่น ปิโตรเลียม ปุ๋ย เหล็ก เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างและชิ้นส่วนอะไหล่ เวียดนามยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3ของสปป.ลาวและนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 3 ในสปป.ลาว รองจากไทยและจีน ธุรกิจของเวียดนามได้ลงทุนในโครงการ 413 โครงการในสปป.ลาวมูลค่ารวม 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เหมืองแร่ การขนส่ง สวนป่าอุตสาหกรรม และบริการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของทั้งสองประเทศ รัฐบาลสปป.ลาวหวังว่าการนำเข้าและการส่งออกรวมกันของประเทศจะบรรลุเป้าหมายในแผน โดยรัฐบาลสปป.ลาวได้ตั้งเป้าหมายการค้ารวมไว้ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 63 และเนื่องจากวิกฤต Covid-19 มีการแก้ไขเป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2020/11/07/laos-and-vietnam-strengthen-ties-more-than-us12bil-in-trade-agreements-despite-pandemi

ปศุสัตว์ ปลื้มโควิดดันส่งออกหมูพุ่ง 344 %

ปศุสัตว์ ชี้นโยบายอาหารปลอดภัย ผนึกโควิด ทำตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ดันส่งออก หมู เพิ่ม 344 % 1.3 หมื่นล้านบาท ด้านไก่ เพิ่ม 0.67 % มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท รุ่ง ตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ภาพรวมการผลิตและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์สำคัญ โดยเฉพาะหมูและไก่เนื้อในช่วงที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในระดับโลกด้านมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก สะท้อนจากความสามารถในการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงม.ค.- ต.ค. 2563 การส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทย ในส่วนของสุกรมีชีวิตปริมาณรวม 2 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 344.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกสุกรขุน 1,9 ล้านตัวและส่งออกสุกรพันธุ์ 1แสนตัว ขณะที่การส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ รวม 4.3 หมื่นล้านตัน มูลค่า5.1 พันล้านบาท สำหรับการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 ไทยมีปริมาณการส่งออกรวม 7.69 แสนตัน มากกว่าช่วงเดียวของปีก่อนหน้า 0.67% มูลค่ารวม 8.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเนื้อไก่แปรรูป 58.50% ปริมาณ 4.5 แสนตัน มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท และเนื้อไก่สด 41.50% ปริมาณ 3.1 แสนตัน มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดสำคัญของเนื้อไก่แปรรูป คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ และอียู ขณะที่เนื้อไก่สดมีญี่ปุ่น จีน และอียู เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/906584

เมียนมาพร้อมขยายตลาดกาแฟผ่านสิงคโปร์

รายงานของ Myanmar Coffee Association เผยเมียนมาขยายการส่งออกกาแฟผ่านสิงคโปร์เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ จากการระบาดของ COVID-19 ความต้องการกาแฟในท้องถิ่นลดลงและผู้ค้าบางรายพยายามขยายตลาดในต่างประเทศและกำลังเชื่อมต่อกับตลาดใหม่ในภูมิภาคโดยผ่านสิงคโปร์ เมื่อเดือนที่แล้วสมาคมได้เข้าร่วมงาน Singapore Specialty Coffee Online Auction 2020 ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้ผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลกเพื่อส่งเสริมเมล็ดกาแฟสู่ตลาดเอเชียโดยใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง เมียนมาเพิ่มความพยายามในการหาตลาดต่างประเทศหลังจากการส่งออกลดลงเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 การส่งออกลดลงครึ่งหนึ่งในปีงบประมาณ 62-63 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ส่งออกมากกว่า 1,000 ตันไปยังสหรัฐฯ เยอรมนี จีน ไทยญี่ ปุ่นเกาหลี และยุโรป การส่งออกกาแฟอาจลดลงอีกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าตรงกันข้ามกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกกาแฟเพิ่มขึ้น 4 เท่าเป็น 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 62-63 จาก 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 57 ประชากรร้อยละ90 ของประเทศมีประชากรดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศและที่เหลือบริโภคกาแฟในท้องถิ่น

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-coffee-market-expand-through-singapore.html

ไทยเป็นตลาดส่งออกข้าวโพดเบอร์ต้น ๆ ของเมียนมา

นาย U Myo Thu รองอธิบดีองค์การส่งเสริมการค้าเมียนมาเผยปัจจุบันไทยเป็นนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเก็บเกี่ยวถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ข้าวโพดที่ใช้ในอุตสาหกรรมหรืออาหารสัตว์เป็นที่ต้องการสูงในไทย จากการส่งออกไปยังจีนถูกระงับตั้งแต่ปี 61 ผลผลิตข้าวโพดส่วนใหญ่จึงถูกส่งออกไปยังไทย ซึ่งในปีงบประมาณ 62 – 63 มีการนำเข้ามากกว่ามากกว่าหนึ่งล้านตันเพิ่มขึ้นจาก 700,000 ตันในปีก่อนหน้า การส่งออกข้าวโพดเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบเป็นรายปีในปีงบประมาณ 62 – 63 การส่งออกข้าวโพดต่อปีอยู่ที่ 2.5 ล้านตันเมื่อเทียบกับ 1.5 ล้านตันในปีก่อนหน้า ปัจจุบันเมียนมามีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 1.5 ล้านเอเคอร์

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/thailand-becomes-top-corn-export-market-myanmar.html

ไทยผนึก 26 ชาติจี้มะกันต่ออายุจีเอสพี อุ้มส่งออก8หมื่นล.645สินค้า

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้ร่วมกับอีก 26 ประเทศที่รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทำหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) เพื่อขอให้มีการพิจารณาต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษจีเอสพี 3,500 รายการ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.63 ออกไป เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐ ให้สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงให้ทางการสหรัฐ เร่งรัดกระบวนการพิจารณาต่ออายุโครงการให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบัน สหรัฐได้ให้สิทธิจีเอสพีสินค้าทั้งหมด 3,500 รายการ แต่ในจำนวนมีสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิและใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปจริง ประมาณ 645 รายการ คิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 83,200 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะหมดอายุช่วงสิ้นปีนี้  แต่กรมฯ ก็เชื่อมั่นว่าทางการสหรัฐจะต่ออายุจีเอสพีออกไป  แม้กระบวนการประกาศต่ออายุจะล่าช้าและเสร็จไม่ทัน 1 ม.ค.64 แต่ก็ขอให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องตกใจ เพราะตามประวัติศาสตร์ ทางการสหรัฐจะประกาศช้าอยู่แล้ว แต่ก็จะให้สิทธิจีเอสพีย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป โครงการจีเอสพี ที่สหรัฐ ให้สิทธิฯ แก่  119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด จะถึงรอบสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธ.ค.63 พอดี โดยสหรัฐ กำลังพิจารณาต่ออายุโครงการออกไปอยู่  ซึ่งจะต้องออกเป็นกฎหมายจึงอาจมีความล่าช้าไปบ้าง หลายเดือน แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะสหรัฐ จะให้สิทธิต่ออายุโครงการย้อนหลัง เพื่อให้การให้สิทธิจีเอสพีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 61 สหรัฐ ได้ประกาศต่ออายุเดือน มี.ค.61 แต่ให้มีผลใช้บังคับใช้ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 ซึ่งผู้ส่งออกมีความเข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/804636

เวียดนามนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชา 1.4 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรของกัมพูชา เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวเปลือกมากกว่า 1.4 ล้านตันไปยังเวียดนาม การส่งออกดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกันดาล, ไพรแวง, สวายเรียง, ตาแก้ว, พระตะบองและกำปอต ในขณะที่ การเก็บเกี่ยวข้าวในปี 2562-2563 กัมพูชาผลิตข้าวเปลือก 10.88 ล้านตัน ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาไม่ต้องการที่จะหยุดการส่งออกข้าวไปเวียดนาม เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีตลาด ทั้งนี้ ทางเลาขาธิการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่าข้าวเปลือกที่ส่งออกไปยังเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้นที่ใช้ระยะเวลาในการเติบโต 3 เดือน นอกจากนี้ กัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากกว่า 2.7 ล้านเฮกตาร์ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดอุทกภัยทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายมากกว่า 213,000 เฮกตาร์ ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวเปลือกของกัมพูชาไปยังเวียดนามลดลง

  ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-imports-14-mln-tonnes-of-cambodian-rice-paddy-814397.vov

เวียดนามเผยยอดส่งออกคอมพิวเตอร์และเครื่องจักร พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ณ วันที่ 15 ต.ค. เผยว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามสูงถึง 215.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าส่งออกสำคัญ 5 รายการที่มีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องจักร ชิ้นส่วนและรองเท้า ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ อยู่ที่ 34.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดส่งออกของเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่ส่งออกไปยังจีน มีมูลค่า 8.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมาสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและฮ่องกง ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เครื่องจักรและชิ้นส่วน มีมูลค่า 19.568 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 7.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 121 รองลงมาสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://customsnews.vn/exports-of-computers-and-machines-increase-nearly-13-billion-16326.html

เวียดนามเผยส่งออกซีเมนต์และปูนเม็ดพุ่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

จากรายงานอุตสาหกรรมซีเมนต์ในประเทศที่เผยแพร่โดยบริษัท FPT Securities Joint ระบุว่าปริมาณการส่งออกซีเมนต์และปูนเม็ดของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 30 เท่าในปี 2553-2562 มีสัดส่วนร้อยละ 32 ของการบริโภครวม และการส่งออกสินค้าดังกล่าวมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการส่งออกจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่ส่งออกปูนเม็ดและวัตถุดิบที่ทำมาจากซีเมนต์ ทั้งนี้ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 38.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาส่งออกต่ำกว่าในประเทศร้อยละ 10 เป็นผลมาจากธุรกิจต้องลดราคา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกซีเมนต์กว่า 28 ล้านตันในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ในแง่ของปริมาณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และในแง่ของมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

  ที่มา : https://vov.vn/en/economy/cement-and-clinker-exports-skyrocket-over-past-decade-812483.vov