อาคมถกนายกฯเตรียมเยียวยาประชาชน ลั่นเงินมีพอไม่ต้องกู้เพิ่ม

อาคม ถกนายกฯ มาตรการเยียวยาโควิด ยันมีแจกแน่ แต่ขอเลือกก่อนว่าแบบ เราไม่ทิ้งกัน หรือ คนละครึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงรายละเอียดบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่โดยกระทรวงการคลังจะกลับมาทำการบ้านเพิ่มเติม ขณะนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ซึ่งกำลังพิจารณารูปแบบ เช่น การเยียวยาเหมือนเดิม 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะใส่เม็ดเงินเหมือนโครงการคนละครึ่งหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่คลังต้องพิจารณา “ข้อเรียกร้องให้แจกเงิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือนเยียวยาประชาชนนั้น เป็นข้อเสนอของเอกชน ไม่ทราบว่าเสนอบนพื้นฐานของอะไร แต่ส่วนของรัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งในรายละเอียดจะต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้เสนอ ครม.ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ต้องทำการบ้านให้จบก่อน” ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด กระทรวงการคลังกู้เงินจากวงเงินดังกล่าวแล้ว 3.7 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายเงินแล้ว 3.6 แสนล้านบาท จึงยังมีเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องขอกู้เงินเพิ่มเติม

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818373

รัฐบาลกัมพูชาเร่งประชุมทางเทคนิคในการจัดซื้อวัคซีน COVID-19

รัฐบาลกัมพูชาเรียกคณะทำงานประชุมทางเทคนิคครั้งแรกเพื่อหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์และแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับฉีดให้คนกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยการประชุมได้พิจารณาถึงพื้นฐานที่เชื่อถือได้และปริมาณสำหรับการซื้อวัคซีน ตลอดจนวิธีการแจกจ่ายสำหรับการใช้งานในกรณีฉุกเฉินและในกรณีทั่วไป ซึ่งพิจารณาจากซัพพลายเออร์ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนหลายรายที่อาจได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในอนาคตอันใกล้ โดยมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวกัมพูชา อีกทั้งการประชุมยังได้ศึกษาทางเลือกในการจัดหาเงินทุนที่เป็นไปได้ รวมทั้งจากงบประมาณแผ่นดิน ให้ความช่วยเหลือและเงินกู้สัมปทานจากหุ้นส่วนการพัฒนาทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการระบาดในครั้งนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802014/cambodia-covid-19-containment-policy-first-technical-meeting-to-procure-covid-19-vaccine-convened/

รัฐบาลกัมพูชาจัดหาเงินเพิ่มสำหรับการกักกันแรงงานที่เดินทางกลับจากไทย

รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเพิ่มงบประมาณจัดสรรให้กับ 4 จังหวัดชายแดนสำหรับการกักกันแรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับจากประเทศไทยจำนวน 700 ล้านเรียล (170,000 ดอลลาร์) รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่าจังหวัดพระตะบองและบันเตียเมียนเจยได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมอีก 200 ล้านเรียล (49,000 ดอลลาร์) จังหวัดอุดรมีชัยได้รับเงินเพิ่มอีก 100 ล้านเรียล (24,000 ดอลลาร์) สำหรับการต่อสู้กับ โควิด-19 ในภูมิภาค โดยรายงานอ้างว่าแม้ว่าจุดผ่านแดนของไทยจะยังคงถูกปิด แต่ก็ยังคงเปิดรับแรงงานกัมพูชาที่มีความประสงค์เดินทางกลับมายังกัมพูชา ซึ่งจำเป็นต้องมีการกักกัน 14 วัน ถึงจะอนุญาตให้เดินทางกลับไปยังบ้านพักได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802078/government-provides-additional-700-million-riels-for-quarantining-of-workers-returning-from-thailand/

หน่วยงานรัฐบาลสปป.ลาวเร่งศึกษาวิธีการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

หน่วยงานภาครัฐได้รับคำสั่งให้ศึกษากลไกและแนวทางในการดำเนินนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากขึ้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระหนี้ที่พวกเขาก่อขึ้นจากการดำเนินกิจการรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดได้หารือเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด -19 ต่อเศรษฐกิจ วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้รายได้ของ บริษัท และครัวเรือนหดตัว แม้จะมีความท้าทายที่น่ากลัว แต่รัฐบาลก็พยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยทางสังคมเพื่อให้ประชาชนสามารถหาเลี้ยงชีพและลดความยากจนได้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_6.php

สปป.ลาวจะเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 แก่กลุ่มเป้าหมายถัดไปในสัปดาห์หน้า

หลังจากที่สปป.ลาวได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 100 คนและไม่มีผลข้างเคียงทำให้สปป.ลาวมีแผนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเป้าหมายถัดไปคือกลุ่มเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อสูง รองศาสตราจารย์ ดร. ภูธร เมืองปัก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (5 ม.ค. ) “ผู้คนต้องการวัคซีนสองปริมาณเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19  เจ้าหน้าที่แนวหน้ากลุ่มแรกรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและครั้งที่สองในวันที่ 22 ธันวาคม”  โครงการฉีดวัคซีนดังกล่าวเปิดตัวหลังจากประเทศจีนจัดหาวัคซีนให้แก่สปป.ลาว 2,000 โดสที่พัฒนาโดย Sinopharm (China National Pharmaceutical Group Co. , Ltd. ) และจากรัสเซียจำนวน 500 โดสซึ่งเป็นวัคซีน Covid-19 ที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัย Gamaleya ของรัสเซีย กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าปีนี้ประชากรสปป.ลาวประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 1.6 ล้านคนจะได้รับการฉีดวัคซีนและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ของประชากรภายในปี 2565 ซึ่งจะใช้งบประมาณมากถึง 18 เหรียญสหรัฐฯ และหากฉีดวัคซีนประชากรทุกคนจะใช้งบประมาณในการฉีดวัคซีนเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/01/06/laos-declares-covid-19-vaccinations-safe-more-to-be-inoculated-next-week

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินเยียวยาแก่แรงงานอันเนื่องมาจากโควิด-19

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินจำนวน 23 ล้านดอลลาร์กระจายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะจัดสรรเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่คนงานอีกจำนวน 8,000 ราย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงินเยียวยารอบใหม่ออกมา ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 129 แห่ง ที่จำเป็นต้องปิดกิจการลง โดยในวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมากระทรวงได้ประกาศเปิดรับผู้ที่ต้องการได้รับเบี้ยเลี้ยงจากผลกระทบข้างต้นครั้งที่ 45 ซึ่งมีผู้ยื่นความประสงค์กว่า 8,400 ราย เฉพาะในแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการท่องเที่ยว โดยกระทรวงกล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นจำนวน 40 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับคนงานในภาคสิ่งทอและผลิตภัณฑ์การเดินทางต่อไปอีกสามเดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 ในขณะที่เจ้าของโรงงานในภาคเหล่านี้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 ดอลลาร์ต่อคนงานจนครบกำหนด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800806/govt-gives-23mil-to-workers-who-lost-jobs-over-pandemic/

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกดาวน์แค่พื้นที่เสี่ยง

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกแค่พื้นที่เสี่ยง หวั่นล็อกทั้งประเทศ ศก.เจ็บหนักแน่ จี้รัฐเพิ่มสิทธิคนละครึ่งอีก 20-30 ล้านราย หวังหล่อเลี้ยงร้านค้า–ลดภาระประชาชน  พับเราเที่ยวด้วยกันไปก่อน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ประกาศไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หรือประกาศเคอร์ฟิว โดยใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไป เนื่องจากหากประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแน่นอน  เพราะตอนนี้ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะเสี่ยงสูงทั้งหมด พื้นที่ไหนมีปัญหา ก็เลือกแก้เฉพาะจุด มีความเหมาะสมมากกว่า พื้นที่ไหนพอไปได้ ความเสี่ยงน้อย ก็ให้เฝ้าระวัง และป้องกันอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจยังพอขับเคลื่อนได้  นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประเมินความเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดรอบ 2 เสียหายประมาณวันละ 3,000 – 5,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 1–1.5 แสนล้านบาท เป็นผลจากประชาชนชะลอการใช้จ่าย เทียบจากการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศครั้งแรกช่วงเดือน มี.ค.–เม.ย. 63 มีมูลค่าความเสียหายวันละ 10,000 ล้านบาท แม้การระบาดรอบ 2 จะยังไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่มีมูลค่าความเสียหายสูง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กึ่งๆ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศแล้ว และจังหวัดที่ล็อกดาวน์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ทั้งนี้ภาครัฐ ควรกระตุ้นมาตรการทางเศรษฐกิจลงมาเพิ่มเติมในไตรมาสแรก เพื่อชดเชยมูลค่าเศรษฐกิจหายไปเป็นแสนล้านบาท โดยพาะมาตรการคนละครึ่ง ที่เห็นผลอย่างชัดเจนในการช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และช่วยลดภาระค่าครองชีพ ควรเปิดกว้างเพิ่มเติมอีก 20 -30 ล้านราย เพื่อกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งไม่รวมกับผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควรชะลอไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วกลับมาให้คนเดินทางท่องเที่ยวใหม่ เชื่อว่า หากเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 64 ขยายตัวได้บวก 2-3% แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมา จีดีพีจะขยายตัวในกรอบ 0-2% เท่านั้น      

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816820

จีนช่วยให้สปป.ลาวเข้าถึงวัคซีน COVID-19

สปป.ลาวจะได้รับวัคซีนโควิด -19 จากจีน 2,000 โด๊ส บางส่วนได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่อาสาสมัครไปแล้ว 200 ราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ. บุญคง สีหะวงศ์ กล่าวในแถลงการณ์วันนี้ว่า “สปป.ลาวได้รับการจัดส่งวัคซีน Sinopharm Covid-19 จากจีนและได้ฉีดให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกและเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองฉีดวัคซีนระยะแรกอีกด้วย”  สปป.ลาวเป็นหนึ่งใน 92 ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตร “COVAX” โดยกลุ่มประเทศดังกล่ามีประชากรรวมประมาณร้อยละ 15 – 20 ของประชากรโลก ซึ่งจะได้รับวัคซีน Sinopharm Covid-19 ภายในเดือนเมษายน 2564 ในขณะเดียวกันวัคซีน “Sputnik V” ที่ผลิตโดยรัสเซียประมาณ 500 โด๊ส จะถูกส่งไปยังสปป.ลาวในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/01/04/china-to-help-laos-get-access-to-covid-19-vaccine

MTB ปล่อยกู้ร้านขายของที่ระลึกเยียวยาพิษโควิด

Myanma Tourism Bank (MTB) ปล่อยเงินกู้ให้ร้านขายของที่ระลึกซึ่งเป็นสมาชิกของ Myanmar Souvenir Entrepreneurs Association (MSEA) โดยธนาคารได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เพื่อส่งเสริมการผลิตของที่ระลึก เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิงและกำลังประสบปัญหาทางการเงิน  MTB ยังได้ลงนามใน MOU ในด้านการเงินและการให้กู้ยืมกับสมาคมนักเรียนเก่า GTI และสมาคมการท่องเที่ยวแห่งสหภาพเมียนมา

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanma-tourism-bank-grants-loans-souvenir-shops.html

เอกชนวอนรัฐแจงพร้อมสนองนโยบายล็อกดาวน์

หอการค้าตะวันออกวอนรัฐชี้แจงมาตรการล็อกดาวน์-ภาคท่องเที่ยวจี้ใช้วัคซีนด่วนหวั่นเสียหายหนัก นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย หรือประธานหอการค้าภาคตะวันออก กล่าวว่า หากรัฐจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ต้องการให้รัฐเรียกผู้ประกอบการมาหารือร่วมกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจในมาตรการต่างๆ เนื่องจากในพื้นที่มีโรงงานจำนวนมาก ที่ต้องทำงานต่อเนื่องไม่สามารถปิดได้ทันที เช่น โรงงานปิโตรเคมี เพราะต้องเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อ ขณะเดียวกันขอให้รัฐชี้แจงให้ชัดเจนถึงความหมายของ ล็อกดาวน์ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน เนื่องจากขณะนี้มีความเข้าใจความหมายที่แตกต่างกัน “ถ้าล็อกดาวน์แล้วไม่ยืดเยื้อผู้ประกอบการก็สามารถเข้าใจได้ เพราะตอนนี้ โรงแรม ท่องเที่ยว กระทบอย่างหนัก และไม่รู้ว่าจะทนได้นานแค่ไหน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งแรก โควิดที่เกิดต้นปี ครั้งที่ 2 กรณีเกิดการระบาดจากทหารอียิปต์ และครั้งนี้ที่เกิดระบาดระลอกใหม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ว่าจำนวนเท่าใด แต่คาดว่าหลายพันล้านบาท” นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า ทางภาคเอกชนท่องเที่ยว โดยสมาคมขอให้รัฐบาลรีบพิจารณานำวัคซีนมาใช้โดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ได้ นอกเหนือจากที่รัฐได้ทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชน และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะกิจการไม่จำเป็นต้องปิดอะไรมาก ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบแน่นอนจากการปิดกิจการต่างๆ โดยเอกชนยอมรับสถานการณ์พร้อมทำตามนโยบาย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816626