‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ดึงดูดเงิน FDI ได้กว่า 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

หน่วยงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม เปิดเผยว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 9.6% ของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงาน พบว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 ก.ย. เวียดนามดึงดูดการลงทุน FDI ประมาณ 20.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำที่ดึงดูด FDI ในเวียดนามได้มากที่สุด มูลค่ามากกว่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมาภาคอสังหาฯ ที่ 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 45% และการเงินการธนาคาร 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-attracts-1-94-billion-usd-in-fdi-in-nine-months-2198057.html

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

‘Global Finance’ นิตยสารการเงินการธนาคารชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเวียดนามกลายเป็นหนึ่งประเทศชั้นนำของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการ รวมไปถึงประชากรของเวียดนามกว่า 100 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี

ทั้งนี้ เธียร์รี่ เมอร์เม็ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท SOA กล่าวว่าบริษัทมองหาโอกาสทางการธุรกิจในเวียดนามและอาเซียน เนื่องมาจากเวียดนามแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และเม็ดเงินจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.5% อีกทั้ง ตัวชี้วัดที่สำคัญที่มีความได้เปรียบของเวียดนาม คือ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ เหตุจากการที่บริษัท VinFast เพิ่งกลายมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเมื่อพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด พบว่าตามหลังเพียงแค่เทสลา (Tesla) และโตโยต้า (Toyota)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-powerful-magnet-for-foreign-direct-investment-post129700.html

‘เวิลด์แบงก์’ ชี้การลงทุน FDI ในเวียดนามยังคงทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

ธนาคารโลก (WB) ได้ออกรายงาน Vietnam Macro Monitoring ประจำเดือน ส.ค. 2566 ระบุว่ากระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการเบิกจ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหตุจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในประเทศและการส่งออก ในขณะที่ยอดค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้น 7.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด อีกทั้ง การลงทุน FDI ยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปยังเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 32% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-fdi-performance-remains-steady-amid-global-uncertainties-wb-post1046850.vov

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งแห่งเอเชีย

ศาสตราจารย์ คาร์ล เทเยอร์ (Carl Thayer) นักวิชาการด้านการศึกษาในเวียดนาม ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุใดที่จะผลักดันให้เวียดนามกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย โดยเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของเวียดนามในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยอัตราการเติบโตทางการค้าเป็นตัวเลขสองหลัก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) แสดงความคิดเห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดสว่างทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าเวียดนามกลายมาเป็นดาวเด่นของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-is-a-rising-star-in-asia-professor-2187344.html

‘สิงคโปร์’ นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา

จากสถิติของคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารเมียนมา เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยธุรกิจสิงคโปร์ส่วนใหญ่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พลังงานและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเมียนมา ด้วยเงินลงทุนประมาณ 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 467.793 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด และอนุมัติโครงการจากต่างประเทศ จำนวน 18 โครงการ จาก 6 ประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/singapore-leads-myanmars-fdi-rankings-over-last-4-months/#article-title

FDI ในกัมพูชาพุ่งแตะ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 พุ่งแตะ 4.58 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีนคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาครอบคลุมภาคส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ภาคการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต เกษตรกรรม และภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 31.6 ของการลงทุนทั้งหมด ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการแห่งรัฐและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รายงานเสริมว่า ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ของกัมพูชา จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด FDI ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324951/cambodia-fdi-registered-capital-at-45-billion/

Q1 FDI กัมพูชาขยายตัวกว่า 9% คิดเป็นมูลค่ากว่า 45.8 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปีมีมูลค่าแตะ 45.8 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแหล่งเงินทุนหลักมาจากจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ด้าน NBC กล่าวเสริมว่า การไหลเข้าของการลงทุนส่วนใหญ่ไหลไปยังภาคส่วนหลักๆ ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมทางด้านการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของ FDI สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324528/fdi-in-cambodia-increases-by-9-percent-in-q1-to-45-8-billion/

‘สื่ออังกฤษ’ ตีบทความ โอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

สื่ออังกฤษด้านธุรกิจและการเงิน ‘Financial Times’ ลงบทความที่ทำการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่นำไปสู่การผลักดันให้สัญญาต่างๆ และในโอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามที่จะไปสู่การเติบโตสูงสุด และการใช้ความได้เปรียบทางด้านการผลิต เพื่อการส่งเสริมประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาในประเทศสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาลงทุน อาทิเช่น เดลล์ (Dell), กูเกิล (Google), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ แอปเปิล (Apple) บริษัททั้งหมดในข้างต้นทำการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมองหาโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ เวียดนามจำเป็นที่จะต้องยกระดับขีดความสามารถในการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-moment-has-arrived-financial-times/256097.vnp

‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลก

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าประเทศ มีมูลค่า 13.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาตินั้น ทางหน่วยงานได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพของการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบความสำคัญในแง่ของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ความมั่งคงทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิเช่น ซัมซุง (Samsung), แอลจี (LG) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีแผนที่จะย้ายสายการผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-leading-destination-of-fdi-businesses-post1031393.vov

นายกฯ มาเลเซียเยือน สปป.ลาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

การมาเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar Ibrahim นายกฯ มาเลเซีย ในช่วงวันที่ 26-27 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันหลัง สปป.ลาว จะต้องเป็นประธานในการจัดการประชุมอาเซียนในปีหน้าที่จะต้องรับตำแหน่งต่อจากอินโดนีเซีย โดยผู้นำทั้งสองพร้อมที่จะเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoC) ระหว่าง Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) และรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติ สปป.ลาว (LNRSE) รวมถึง Mutiara Perlis Sdn Bhd (MPSB) ขณะที่ท่าเรือบกท่านาแล้ง (TDP) กล่าวว่า การค้าทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 425 จากมูลค่าการค้ารวม 48.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เป็น 255.6 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมาเลเซียยังคงเป็นกลุ่มประเทศผู้เข้ามาลงทุนโดยตรงมายัง สปป.ลาว (FDI) รายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ รองจากจีน ไทย และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโครงการลงทุนภาคพลังงาน เขตการค้าเสรี ยานยนต์ และการธนาคาร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten122_PM_Anwar_y23.php