พนักงานกระทรวงพลังงานและไฟฟ้า เผยถูกกดดันให้ยุติการประท้วง

เนปยีดอ – พนักงานกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานออกมาให้ข้อมูลว่าพวกเขาถูกกดดันให้กลับไปทำงาน พนักงานของ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ราว 150 คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพกล่าวว่าพวกเขาได้รับโทรศัพท์มาข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องหากไม่กลับไปทำงานและได้รับคำสั่งให้ออกจากที่พักของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งพนักงานยังกล่าวอีกว่าต้องได้รับจดหมายอย่างเป็นทางการตามระเบียบของทางราชการก่อนถึงจะออกไป พนักงานส่วนใหญ่ที่หยุดงานประท้วงเป็นพนักงานระดับล่างและถูกกดดันจากผู้จัดการซึ่งเลือกที่จะทำตามระบอบของรัฐบาลทหาร โครงการส่วนใหญ่ของกระทรวงหยุดชะงักเนื่องจากการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนต่อต้านระบอบการปกครองซึ่งเริ่มต้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ด้านกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารการรถไฟและหน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ ได้ไล่พนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหวหลายร้อยคนออกจากที่พักเป็นที่เรียบร้อย ในปี 2531 พนักงานของรัฐที่ออกมาต่อต้านกองทัพหลายคนถูกไล่ออก ลดตำแหน่ง หรือย้ายไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ที่มา : https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-energy-electricity-staff-pressured-end-strike.html

“มูลนิธิโซรอส” เรียกร้องให้ปล่อยพนักงานในเมียนมา

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่ามูลนิธิโอเพน โซไซตี้ (Open Society Foundations: OSM) ของจอร์จ โซรอส ได้เรียกร้องให้ทำการปลดปล่อยพนักงานในเมียนมาโดยทันที สาเหตุมาจากตรวจพบว่ามีการลักลอบโอนเงินสนับสนุน ซึ่งมูลนิธิดังกล่าว ช่วยเหลือสื่อมวลชนชาวเมียนมาและประชาสังคมเมียนมามาอย่างยาวนาน ทั้งนี้  เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สื่อของรัฐฯ ประกาศว่ากลุ่มมูลนิธิ OSM นำเงินไปใช้ในการแสดงอารยะขัดขืนต่อการปกครองของทหารในประเทศ โดยมูลนิธิโอนเงินที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานบริหารจัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นจำนวน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิ OSM สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก เผยว่าข้อกล่าวหาดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการโจมตีและสร้างความเสื่อมเสียให้แก้ผู้ที่ต้องการสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/soros-linked-group-calls-for-release-of-employee-in-myanmar

ท่ามกลางการระบาด COVID-19 สปป.ลาวตรวจสอบการกักกันแรงงานที่เดินทางกลับประเทศอย่างเข้มงวด

รัฐบาลสปป.ลาวได้สั่งการให้ทางการท้องถิ่นเฝ้าระวังคนที่เข้ามาในสปป.ลาวอย่างระมัดระวังและกักกันคนงานที่กลับมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของCOVID-19 รองอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อภายใต้กระทรวงสาธารณสุขสปป.ลาว กล่าวว่าทางการท้องถิ่นต้องตรวจสอบพรมแดนอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานสปป.ลาวที่เดินทางกลับจากประเทศเพื่อนบ้าน  คนที่เข้ามาในสปป.ลาวโดยเฉพาะแรงงานที่ส่งกลับประเทศจะถูกส่งไปยังศูนย์กักกันเป็นเวลา 14 วัน ทุกคนในศูนย์กักกันต้องได้รับการตรวจสอบอุณหภูมิทุกวัน ซึ่งในวันจันทร์ที่ผ่านมามีผู้เดินทางเข้าสปป.ลาวผ่านด่านพรมแดนระหว่างประเทศจำนวน 2,600 คน ในจำนวนนี้ 1,281 คนข้ามพรมแดนมาจากประเทศไทย จากประเทศจีนทั้งหมด 41 คน ขณะที่ 1,119 คนเดินมาจากเวียดนามและ 159 คนเดินโดยใช้ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต ที่จุดผ่านแดนทุกแห่งมีการตรวจสอบอุณหภูมิของแต่ละคนที่เข้ามาและไม่มีใครแสดงอาการไข้ และขณะนี้กำลังติดตามผู้คน 2,588 คนที่ศูนย์ที่พัก 33 แห่งทั่วประเทศ และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้ทดสอบผู้ป่วยที่ต้องสงสัย 104,212 ราย โดย 44 รายได้รับการตรวจเป็นบวกและผู้ป่วย 41 รายฟื้นตัวจากการติดเชื้อ

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/02/c_139716545.htm

ไซต์งานก่อสร้างในย่างกุ้งหยุดกระทันหัน หวั่นกระทบแรงงานจำนวนมาก

อุตสาหกรรมการก่อสร้างของย่างกุ้งหยุดชะงักตามปัญหาการเชื่อมต่อและการขนส่ง สมาคมผู้ประกอบการการก่อสร้างแห่งเมียนมาเผยไซต์ก่อสร้างในเขตย่างกุ้งได้ระงับชั่วคราวและกำลังรอการพัฒนาเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการดำเนินการต่อไป ปัจจุบันไม่มีการเชื่อมต่อ (โทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต) และประชาชนไม่สามารถถอนเงินที่ธนาคารได้คนงานยังไม่สามารถเดินทางไปที่ทำงานได้เนื่องจากไม่มีรถประจำทางกระทบต่อคนทั้งประเทศ โดยมีแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ได้รับค่าจ้างรายวัน คนงานเหล่านี้มักจะถอนเงินสดทุกวันที่ธนาคารหลังเลิกงาน ทั้งนี้ผู้เที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแผนที่ประชุมหรือเจรจาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/yangon-construction-sites-cease-operations.html

เอกชนหวั่นรัฐประหารเมียนมาดันแรงงานทะลักเข้าไทย

เอกชนหวั่นแรงงานเมียนมาทะลักเข้าไทย ซ้ำเติมโควิด-19 ยิ่งกระทบศก. ชี้อีกมุมการค้าไทยได้ประโยชน์ ตื่นรัฐประหาร แห่ตุนสินค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากพลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมียนมาว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานเมียนมา อาจไหลทะลักเข้ามาในไทย จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากแรงงานต่างด้าวในตลาดอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้ประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากประชาชนอาจตื่นตะหนกกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย โดยด่านพรมแดนของ จ.เชียงราย มีทั้งหมด 6 ด่าน สร้างรายได้รวมประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการนำเข้า–ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมา และไทยกับลาว โดยจะติดตามสถานการณ์ภายในของเมียนมาอย่างใกล้ชิดต่อไป นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ประเมินผลกระทบการทำรัฐประหารเมียนมา จะส่งผลต่อไทยบ้างเล็กน้อยเนื่องจากการค้าและการส่งออกไทยไปยังเมียนมาในปัจจุบันมีไม่มากแล้ว เพราะส่วนใหญ่เมียนมาได้ผลิตในประเทศเองไม่เหมือนเมื่อก่อน โดยสิ่งที่จะกระทบคงจะเป็นด้านพลังงาน เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจไทยแห่งหนึ่งได้เข้าลงทุนในเมียนมา หากยืดเยื้ออาจกระทบต่อการต่อสัมปทานในระยะข้างหน้าได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/822756

แรงงานก่อสร้าง บ. โยมา ลุกฮือประท้วง หลังถูกลดเงินเดือน

แรงงานหลายร้อยคนจากโครงการก่อสร้าง Yoma Central มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในใจกลางเมืองย่างกุ้ง ได้มีการประท้วงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาภายหลังจากได้รับแจ้งว่าในเดือนนี้ถูกลดค่าจ้างและบางรายไม่ได้เงินชดเชยจากประกันสังคม การประท้วงเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่และลากยาวไปจนถึงบ่าย โดยมีการปิดกั้นถนนและการจราจรเริ่มติดขัดในพื้นที่ โครงการโยมาเซ็นทรัลเป็นโครงการพัฒนาแบบผสมผสานที่ เรียกว่า “มิกซ์ยูส” (mixed-use) ซึ่งประกอบด้วยที่พักอาศัยระดับหรู โรงแรมระดับ 5 ดาว เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ และสำนักงาน โครงการนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาภายในสำนักงานใหญ่ Myanma Railways เป็นการร่วมทุนระหว่าง Yoma Strategic Holdings จากสิงคโปร์และ Dragages Singapore คนงานได้ร่วมกันประท้วงเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วเมื่อโควิด -19 ระบาดครั้งแรกในเมียนมาเพื่อเรียกร้องที่ไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงวันหยุดเทศกาลตะจาน (Thingyan)

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/yoma-central-workers-protest-over-salary-cuts.html

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินเยียวยาแก่แรงงานอันเนื่องมาจากโควิด-19

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินจำนวน 23 ล้านดอลลาร์กระจายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะจัดสรรเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่คนงานอีกจำนวน 8,000 ราย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงินเยียวยารอบใหม่ออกมา ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 129 แห่ง ที่จำเป็นต้องปิดกิจการลง โดยในวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมากระทรวงได้ประกาศเปิดรับผู้ที่ต้องการได้รับเบี้ยเลี้ยงจากผลกระทบข้างต้นครั้งที่ 45 ซึ่งมีผู้ยื่นความประสงค์กว่า 8,400 ราย เฉพาะในแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการท่องเที่ยว โดยกระทรวงกล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นจำนวน 40 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับคนงานในภาคสิ่งทอและผลิตภัณฑ์การเดินทางต่อไปอีกสามเดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 ในขณะที่เจ้าของโรงงานในภาคเหล่านี้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 ดอลลาร์ต่อคนงานจนครบกำหนด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800806/govt-gives-23mil-to-workers-who-lost-jobs-over-pandemic/

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งเสริมการพัฒนาทักษะจำเป็นต่อแรงงาน

ปัญหาด้านแรงงานถือเป็นความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาทักษะของแรงงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดจึงเป็นสิ่งท้าทายต่อรัฐบาลเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขและพัฒนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกล่าวว่า “ทางการจะช่วยเหลือแรงงานสปป.ลาวให้ประสบความสำเร็จและความพยายามในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานรวมถึงการพัฒนาแรงงานเพื่อให้มีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลต่อระบบเศรษฐกิจ” โครงสร้างแรงงานในปัจจุบันของสปป.ลาวขาดความชัดเจนขณะที่การพัฒนาทักษะและกลไกการจ้างงานยังไม่ครอบคลุมและระบบข้อมูลแรงงานยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังไม่มีการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานอีกด้วย การพัฒนาทักษะและส่งเสริมสวัสดิการแรงงานให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นส่วนขับเคลื่อนให้ตลาดแรงงานของสปป.ลาวมีการพัฒนา

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Improvement_230.php

รัฐบาลเมียนมาแจกเงินแรงงานที่ไม่มีประกันสังคม

รัฐบาลเมียนมาวางแผนจัดหาเงิน 30,000 จัตต่อคนสำหรับแรงงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งให้ทำงานจากที่บ้านที่ไม่มีประกันสังคม สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมา(UMFCCI) หารือเกี่ยวกับแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับแรงงาน กระทรวงแรงงานคนเข้าเมืองและประชากรประกาศว่าแรงงานงานที่ได้รับผลกระทบจะได้รับค่าจ้างร้อยละ 40 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่แรงงานที่ไม่มีประกันสังคม

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-govt-distribute-cash-workers-without-social-security.html

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สนับสนุนเงิน 1.7 ล้านยูโร ช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรรมตัดเย็บสปป.ลาว

ปัจจุบันคนงานกว่า 26,000 คนในโรงงานสิ่งทอในสปป.ลาวได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของสปป.ลาว ณ ขณะนี้การส่งออกเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 40-50 ในปีนี้ การลดลงอย่างรวดเร็วทำให้โรงงานหลายแห่งต้องลดหรือระงับการดำเนินงานชั่วคราว ส่งผลให้คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวนมากถูกปลดออกจากงาน ปัญหาดังกล่าวทำให้เยอรมนีเข้ามาสนับสนุนเงินกว่า 14.5 ล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือคนงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า 2 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การช่วยเหลือดังกล่าวจะดำเนินการผ่านโครงการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์กรดังกล่าวมีหน้าที่ในการช่วยเหลือแรงงานและส่งเสริมแรงงานในการได้รับสวัสดิภาพที่ควรจะเป็น ในประเทศบังกลาเทศ เอธิโอเปีย กัมพูชา มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย เวียดนามและหนึ่งในประเทศที่รับการช่วยเหลือด้านแรงงานคือสปป.ลาว จากเงินสนับสนุนทั้งหมด 14.5 ล้านยูโร สปป.ลาวจะได้งบประมาณในการช่วยเหลือ1.7 ล้านยูโร ในการนำไปใช้ในโครงการที่จะช่วยแรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บที่กว่าร้อยละ 90 ของแรงเป็นผู้หญิง โครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแผนกลยุทธ์ระยะยาวของสปป.ลาว

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Germent_180.php