MNA พร้อมให้บริการเที่ยวบินตรงจาก มัณฑะเลย์-เชียงใหม่ เริ่ม 2 มี.ค.66 นี้

สายการบินแห่งชาติเมียนมา (MNA) พร้อมให้บริการเที่ยวบินตามปกติจากมัณฑะเลย์ไปเชียงใหม่ โดยทำการบินทุกวันพฤหัสบดี เริ่มวันที่ 2 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งเที่ยวบินจะออกจากท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ เวลา 15.45 น. และถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 17.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศไทย) และจะออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 18:35 น. และถึงท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ เวลา 19:25 น. ทั้งนี้ MNA จะจำหน่ายราคาตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวอยู่ที่ 172 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับ อยู่ที่ 280 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/mna-to-launch-mandalay-chiang-mai-direct-flight-on-2-march/#article-title

10 เดือนที่ผ่านมา เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทะลุกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 ของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 – ปัจจุบัน) พบว่า เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ เครื่องนุ่งห่ม 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, วัตถุดิบเหล็กและเหล็กกล้า 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สินค้าเวชภัณฑ์ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, และปุ๋ยและน้ำมันปาล์ม 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่แล้ว เมียนมาจะนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (CMP) ในขณะที่การส่งออกจะเป็นผลิตผลทางการเกษตร สินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง สินค้าจากแร่ธาตุ สินค้าป่าไม้  สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/petroleum-products-top-import-line-up-with-over-4-billion-in-past-10-months/#article-title

10 เดือนของปีงบ 65-66 การค้าทางทะเลเมียนมา พุ่งขึ้น 19.42%

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย 10 เดือนของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 -ปัจจุบัน) การค้าทางทะเลของเมียนมาเพิ่มขึ้น 19.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา (2564-2565) โดยมีมูลค่าแตะ 22,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้น 10.21% มูลค่า 9.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 26.94%  มูลค่า 13.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การค้าชายแดนมีมูลค่ารวมมาก 7.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ 10 เดือนของปีงบประมาณปัจจุบันเมียนมามีการค้าต่างประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 29,330 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการค้าทางทะเลส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบอาเซียน ส่วนการค้าชายแดนจะทำการค้ากับจีน ไทย บังกลาเทศ และอินเดีย ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ การประมง แร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์จากป่า ในขณะที่นำเข้าจะเป็น สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://english.news.cn/20230221/bd52830edaf042c7985bb93dd7134d05/c.html

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกหัวหอม 100,000 ตันในปีงบประมาณ 66-67

องค์การส่งเสริมการค้าแห่งกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา  เผย ในปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมามีแผนส่งออกหัวหอมไปยังต่างประเทศกว่า 100,000 ตัน โดยแบ่งเป็น ไตรมาสที่ 1 จำนวน 30,000 ตัน, ไตรมาสที่ 2 จำนวน 15,000, ไตรมาสที่ 3 จำนวน 20,000 ตัน และไตรมาสที่ 4 จำนวน 35,000 ตัน ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลผลิตหัวหอมลดลงอย่างมากเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้เมียนมาส่งออกหัวหอมได้เพียง 80,000 ตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/plans-underway-to-export-100000-tonnes-of-onion-in-fy-2023-2024/

เดือนม.ค 66 เมียนมานำเข้าปุ๋ย ทะลุ 60,000 ตัน

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา พบว่า เดือนมกราคม 2566 เมียนมานำเข้าปุ๋ยผ่านทางทะเลมากกว่า 60,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 31.075 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน 40,000 ตัน, ไทย 7,800 ตัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5,000 ตัน, เกาหลีใต้ 2,500 ตัน, สหรัฐอเมริกา 600 ตัน, อุซเบกิสถาน 500 ตัน, เวียดนาม 400 ตัน, ญี่ปุ่น 400 ตัน, สปป.ลาว 300 ตัน, มาเลเซีย 80 ตัน และอินเดียกับอินโดนีเซีย 10 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2565 ที่มีการนำเข้าปุ๋ยเพียง 43,000 ตัน ซึ่งราคาปุ๋ย ณ ปัจจุบัน จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 72,000-162,500 จัตต่อกระสอบ (ขนาด 50 กิโลกรัม) ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและประเภทของปุ๋ย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-60000-tonnes-of-fertilizer-worth-31-075-mln-in-jan/#article-title