การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการก่อสร้างของกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่อง

กัมพูชายังคงได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในรายงาน Asean Investment Report 2022 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 260 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 334 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 โดยภาคการก่อสร้างในกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ในปี 2022 และจะขยายตัวกว่าร้อยละ 9.4 ในระหว่างปี 2023-2026 รายงานโดย Bussineswire’s Cambodia Construction Industry Report 2022 ในขณะเดียวกัน Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คาดการณ์ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เช่นเดียวกันกับการเติบโตของ FDI ซึ่งแรงผลักดันส่วนใหญ่มาจากความต้องการที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยภาคการก่อสร้างถือเป็นหนึ่งใน 4 เสาหลักทางเศรษฐกิจของกัมพูชา จากข้อมูลของ กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมืองและการก่อสร้าง (MLMUPC) ซึ่งในระหว่างปี 2000-2022 กัมพูชาได้ออกใบอนุญาตสำหรับโครงการก่อสร้างกว่า 57,590 โครงการทั่วประเทศ ด้วยเงินลงทุนรวม 66.2 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174759/fdi-in-cambodias-construction-sector-touches-334m/

ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ คาดสร้างงานกว่า 6.5 พันตำแหน่ง

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ 5 โครงการ มูลค่ากว่า 25.4 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 6,500 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการลงทุนใหม่ จะจัดตั้งขึ้นในจังหวัดกันดาล, กัมปงสปือและพระสีหนุ โดยโครงการต่างๆ ตามการเปิดเผยของ CDC จะเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนประกอบรองเท้า เสื้อผ้า และการแปรรูปโลหะ ซึ่งในปัจจุบัน CDC ได้ออกใบอนุญาตการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนกว่า 94 โครงการ ภายในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ในขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาก็ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 23.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.17 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ปีนี้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาเร่งสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยการออกมาตรการในการสนับสนุนด้านการลงทุน ไปจนถึงการออกกฏหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่เป็นการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174204/25-4m-projects-to-create-6500-jobs/

บริษัทสัญชาติจีนวางแผนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในกัมพูชา

China Matrix Technology Group-Horche Intelligent Automobile วางแผนที่จะจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในจังหวัดเกาะกง กล่าวโดย Heng Kim Chan เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานปกครองเกาะกง ถึงแม้ว่าบริษัทจีนจะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการการลงทุน แต่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ โดยในจังหวัดเกาะกงโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 55.5, ภาคบริการร้อยละ 44.2 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 0.3 ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐบาลกัมพูชาพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศ โดยโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นธุรกิจที่ทางการกัมพูชาพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของกัมพูชาเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยยื่นต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งทางการกัมพูชามีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ภายในประเทศใช้รถยนต์และรถโดยสาร EV อย่างน้อยร้อยละ 40 และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 70 ภายในปี 2050

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174221/china-company-plans-ev-assembly-in-cambodia/

นักลงทุนทั่วโลกจ่อลงทุนในภูมิภาคอาเซียน กัมพูชาถือเป็นหนึ่งในตัวเลือก

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะกลับมาเติบโตล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในปี 2021 เนื่องจากต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากในการเปิดพรมแดน ซึ่งส่งผลต่อการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนทางกันกับสถานการณ์ด้านการลงทุนโดยตรงจากประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กัมพูชาได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่ารวมเกือบ 3.3 พันล้านดอลลาร์ จากโครงการจำนวน 123 โครงการ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ตามข้อมูลของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยกระแสการลงทุนจากต่างประเทศได้รับแรงหนุนจากกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงข้อตกลงการค้าหลายฉบับที่ทางการกัมพูชาลงนามไว้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501163645/global-investors-eye-investments-in-asean-region-to-diversify-risk-cambodia-features-well/

คาดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “จีน-อาเซียน” ดันการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงกัมพูชา

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและประเทศกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนเสริมสำคัญต่อการพัฒนาในภูมิภาค โดยปัจจุบันจีนและอาเซียนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 544.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มมีมูลค่ารวมสะสมอยู่ที่ 340,000 ล้านดอลลาร์ ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและโฆษก Penn Sovicheat กล่าวว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-อาเซียนนั้นใกล้ชิดกันมาก ด้วยการมีข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) ที่เป็นส่วนเสริมสำคัญในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน CAFTA ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2 พันล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501157600/china-asean-economic-cooperation-contributes-to-development-prosperity-in-region-cambodian-official-experts/

รัฐบาล สปป.ลาว อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสำรวจที่ดินภายในประเทศ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว อนุญาตให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ เข้าสำรวจที่ดินภายในประเทศ ผ่านการให้บริการของพลเมือง สปป.ลาว ที่ต้องมีใบอนุญาต มีอุปกรณ์สำรวจที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนที่ตั้งสำนักงานที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน และต้องมีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อการให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะทำการให้บริการสำรวจที่ดิน ประเมินราคาที่ดิน และบริการเกี่ยวกับที่ดินอื่นๆ แก่นักลงทุนต่างชาติ ตามที่กำหนดในกฎหมายที่ดิน โดยที่ดินสามารถทำการซื้อขาย หรือเจ้าของสามารถให้สิทธิในการใช้ที่ดินนั้นๆ ได้ ภายใต้เงื่อนไขการถือครองของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักธุรกิจหรือนักลงทุนต่างชาติต้องทำการลงทะเบียนบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ใน สปป.ลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2022/09/07/laos-government-allows-foreign-legal-businesses-to-survey-lands/

รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้อง CP ALL ขยายการลงทุนภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องให้ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา โดยเฉพาะโรงงานกระดาษและโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดกัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน ซีพี ออลล์ ได้เปิดดำเนินการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven หลายสาขาในกรุงพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชา สะท้อนถึงเป้าหมายของ ซีพี ออลล์ ในการขยายกิจการเข้าสู่ตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโต พร้อมตอกย้ำจุดแข็งในการส่งเสริมการค้าและบริการระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยแตะที่มูลค่า 1.174 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501133961/govt-asks-cp-all-plc-to-invest-in-kingdom/

บ.ญี่ปุ่น เข้าซื้อหุ้น 35.1% ในบ.พลังงานเวียดนาม

สำนักข่าวนิกเคอิ (Nikkei) เปิดเผยว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่น JERA Co., Inc ลงนามในข้อตกลงที่จะซื้อหุ้น 35.1% ของบริษัทเวียดนาม Gia Lai Electric Joint Stock Company (GEC) ด้วยการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่น JERA ถือเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Tokyo Electric Power และ Chubu Electric Power ที่จะเข้ามาลงทุน 15 พันล้านเยน (112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในบริษัทพลังงานหมุนเวียนของเวียดนาม โดยการซื้อหุ้นในครั้งนี้ ทางบริษัท JERA ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/japanese-firm-buys-351-stake-at-vietnams-power-company/235754.vnp

“อีอีซี” ทุ่มงบ 1.8 ล้านล้าน หนุนอุตสาหกรรมยุคใหม่

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือนายคณิศ แสงสุพรรณ ออกมาเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 ในวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้มีการรับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของอีอีซี ในช่วง 4 ปีแรก (2561–2565) โดยเกิดความสำเร็จและการเกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ ผลประโยชน์ตรงถึงประชาชน แบ่งได้ดังนี้ 1.เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี 2.สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ 3.สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 66 จะดำเนินการได้ 100,000 คน และ 4.ผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/wealth/122232/

“เวียดนาม” ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

ตามข้อมูลหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) เปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.5% ในแง่ของจำนวนโครงการ และ 48.2% ในแง่ของเงินทุน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มในทิศทางเชิงบวกต่อการไหลเข้าของเงินทุนไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเงินทุนที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ เนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองและการค้า แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในด้านเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนาม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11739302-vietnam-remains-a-safe-destination-for-foreign-investors.html