ส่งออกสินค้าเกษตรเมียนมาลดฮวบ 20% !

กรมศุลกากรเมียนมา เผย จากการปิดชายแดนของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ ส่งผลให้กลุ่มส่งออกสินค้าเกษตรลดลงเกือบ 20% ในช่วง 5 เดือนครึ่งที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 18 มีนาคม 2565 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอยู่ที่ 2.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 541.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบัน ด่านชายแดนบางแห่งเริ่มเปิดทำการค้าเป็นบางส่วน โดยสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และศรีลังกาเป็นหลัก ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรพุ่งเป็น 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2563-2564 แม้ว่าการส่งออกอื่นๆ จะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/agricultural-export-value-down-by-nearly-20-per-cent-as-of-18-march/#article-title

ส่งออกสินค้าปศุสัตว์เมียนมา ดิ่งลง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การส่งออกสินค้าปศุสัตว์รวมถึงวัวและควายของเมียนมา ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 11 มี.ค. 2565 ของปีงบประมาณย่อย (2564-2565) อยู่ที่ 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 11.33 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2563-2564 ที่มีการส่งออก 15.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการปิดชายแดนเมียนมา-จีน โดยเมียนมาอนุญาติให้ส่งออกวัวที่มีอายุมากกว่า 5 ปี พร้อมใบรับรองการฉีดวัคซีน ใบรับรองสุขภาพ และใบรับรองการจดทะเบียนเกษตรกรรม ทั้งนี้วัวถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ซึ่งจากการสำรวจจำนวนวัวและควายในปี 2561 พบว่ามีจำนวนประมาณ 11.5 ล้านตัว แบ่งเป็นควาย 1.8 ล้านตัว และวัวอีก 9.7 ล้านตัว กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานของเมียนมา ระบุว่า วัวที่มีอยู่ในตลาดในประเทศมีประมาณ 1.1 ล้านตัว แบ่งเป็นการส่งออกจำนวน 600,000 ตัวต่อปี ที่เหลือเป็นการบริโภคในประเทศจำนวน 400,000 ตัว

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/

ราคาน้ำมันปาล์มเมียนมาลดฮวบ 7,000 จัตต่อ viss ผลจากราคานำเข้าดิ่งลง

สมาคมผู้ค้าน้ำมันพืชเมียนมา เผย ราคาน้ำมันปาล์มนำเข้าที่ลดลงทำให้ราคาในตลาดภายในประเทศปรับตัวลดลง ปัจจุบันราคานำเข้าอยู่ที่ 1,792 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนราคาขายในประเทศจะอยู่ที่ 7,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ซึ่งในช่วงต้นเดือนมี.ค. 2565 ราคานำเข้ายังอยู่ที่ 1,881 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หนุนให้ราคาขายดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8,000 จัตต่อ viss ซึ่งการบริโภคน้ำมันพืชในประเทศของเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ส่วนการผลิตน้ำมันประกอบอาหารในท้องถิ่นมีประมาณ 400,000 ตัน และเพื่อความพอเพียงในประเทศ เมียนมาจึงต้องนำเข้าน้ำมันปรุงอาหารอีกประมาณ 700,000 ตันต่อปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/

ไตรมาสแรกของปีงบฯ 64-65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป พุ่งขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำนักงานสถิติ กระทรวงการวางแผนและการเงินของเมียนมา เผย การส่งออกเสื้อผ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีงบประมาณก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่การส่งออกของไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 889.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2557

โดยสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา ได้แก่ ข้าว, ถั่ว, ข้าวโพด และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในกลุ่ม CMP (Cut–Make-Pack) ในบรรดาสินค้าส่งออกจะพบว่า เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าใน 5 ปี ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคตมากที่สุดในภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งเมียนมาจะใช้กระบวนการแบบรับจ้างผลิต ในการตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (CMP) โดยนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากต่างประเทศและนำมาตัดเย็บภายในประเทศ

ด้านสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา เผยสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งประเทศชั้นนำที่นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามมาด้วย ญี่ปุ่น, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งนี้ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/227890

ธุรกิจท่องเที่ยวเมืองมะริด ส่อเจ๊งระนาว! จากราคาน้ำมันปรับพุ่งขึ้น

ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายหนึ่งของเมืองมะริด เขตตะนาวศรี ได้ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวของหมู่เกาะมะริด แทบจะหยุดชะงักลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ความกังวลจากสถานการณ์โควิด-19 สายพันธ์ Omicron และความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมา โดยค่าเรือยนต์นำเที่ยวรอบเกาะเพิ่มขึ้นจาก 100,000 จัตเป็น 150,000 จัตต่อคน โดยในหมู่เกาะมะริดมีจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เกาะสมาร์ท เกาะไบเลย์ เกาะคยาลลิก เกาะปาดัน เกาะเลย์ เกาะโดเนนยองมีน และน้ำตกดอน ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้เดินทางทางถนนเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยและการระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวบนเกาะเลย ทั้งนี้มีบริษัททัวร์ประมาณ 40 แห่งที่เปิดให้บริการในหมู่เกาะมะริด แต่ตอนนี้เหลือเพียง 10 บริษัทเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการอยู่

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/