กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ลดลงกว่าร้อยละ 50

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบตั้งแต่ช่วงเดือน มกราคม-พฤษภาคม ปีนี้ ที่ปริมาณ 394,800 ตัน ลดลงกว่าร้อยละ 50.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) โดยทำการส่งออกไปยังเวียดนามมากที่สุดถึง 390,000 ตัน รองลงมาคือไทยจำนวน 1,300 ตัน, อินเดีย 98 ตัน, จีน 13 ตัน และญี่ปุ่น 0.14 ตัน ในขณะที่การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปมีปริมาณรวมอยู่ที่ 274 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 69.52 คิดเป็นการส่งออกไปยังจีน 136.68 ตัน, ไทย 108 ตัน, ญี่ปุ่น 20 ตัน และไตหวัน 9.80 ตัน ซึ่งการลดลงของตัวเลขการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้คุณภาพของถั่วไม่เป็นไปตามข้อกำหนด โดยหากคิดจากปริมาณผลผลิตทั้งหมดมีถั่วที่ผ่านเกณฑ์แค่เพียงร้อยละ 20-22 เท่านั้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501095726/50-decline-in-cambodias-cashew-exports/

กัมพูชาเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,726 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาจัดเก็บภาษีได้กว่า 1,726 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-พฤษภาคม ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในแถลงการณ์ Kong Vibol อธิบดีกรมภาษีอากร กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบรรลุเป้าหมายการจัดเก็บภาษีไปแล้วกว่าร้อยละ 61.25 ของเป้าการจัดเก็บประจำปี 2022 โดยในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว กรมภาษีอากร (GDT) จัดเก็บภาษีได้กว่า 255 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.98 ของเป้าหมายในปีนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้ารายได้จากการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2,819.94 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงรายได้จากกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งทำหน้าที่เก็บภาษีสำหรับสินค้าขาเข้าและขาออก

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501094545/tax-collection-surges-28-percent-to-1726-million/

หนี้สาธารณะกัมพูชา พุ่งแตะ 9.81 พันล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) ประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 9.81 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 68 ของ Bilateral Developing Partners (DPs) และอีกร้อยละ 32 จาก Multilateral DPs ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ด้าน RGC ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานฉบับใหม่กับ DPs เป็นจำนวนเงินรวม 317.24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐในภาคส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวและเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยรายงานสถานการณ์หนี้สาธารณะของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังระบุว่า จีนถือเป็นเจ้าหนี้รายสำคัญในหมวดของหนี้จากต่างประเทศของกัมพูชา หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 40.72 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันสถานะหนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงสามารถจัดการได้ มีความยั่งยืนและมีความเสี่ยงต่ำ แม้ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็ตาม

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501094257/
cambodias-public-debt-at-9-81-billion-says-report/

CDC อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ในกัมพูชามูลค่าเกือบ 24 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ 4 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวมเกือบ 24 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการแรก ได้แก่ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของทางบริษัท Golden Sun Fashion Accessory Co, Ltd. ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้จำนวน 926 ตำแหน่ง ส่วนโครงการลำดับที่ 2 คือ AMTO CHEMICAL TECHNOLOGY CO., LTD. ด้วยเงินลงทุน 1.7 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 150 ตำแหน่ง ลำดับที่ 3 ได้แก่ Kai Feng Wood Products (Cambodia) Co., Ltd. ด้วยเงินลงทุน 6.6 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานให้กับท้องถิ่น 300 ตำแหน่ง และลำดับสุดท้าย MEI AN LEATHERWARE (CAMBODIA) CO., LTD ด้วยเงินลงทุน 10.5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานจำนวน 1,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093977/projects-worth-nearly-24-million-approved-by-cdc/

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วง 5 เดือน

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมกว่า 22,400 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากมูลค่า 18.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 9.41 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.5 ในขณะที่ยอดการนำเข้ารวมอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งในรายงานยังระบุว่า จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รองลงมาคือสหรัฐฯ เวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ โดยปริมาณการค้าระหว่าง จีน-กัมพูชา พุ่งไปแตะ 4.99 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26 จากประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19, ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA ของกัมพูชา-จีน (CCFTA) เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางการค้าของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093744/cambodias-international-trade-up-almost-20-pct-in-5-months/

ในช่วง Q1 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาปรับตัวลงร้อยละ 12.43

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ร่วงลงร้อยละ 12.43 มาอยู่ที่ 559.89 จุด เทียบกับ 639.36 จุด ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในตลาดหุ้นกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามรายงานของ CSX โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมด (ทุนจดทะเบียน) ในกระดานหลักของ CSX เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52 หรือคิดเป็น 4.48 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จาก 4.45 พันล้านดอลลาร์ใน ช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาด CSX ทั้งหมด 16 แห่ง แบ่งออกเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 9 แห่ง และบริษัทตราสารหนี้ 7 แห่ง ด้วยทุนทั้งหมดรวมมากกว่า 280 ล้านดอลลาร์ และมีนักลงทุนกว่า 32,000 คน เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นภายในตลาด CSX

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501092775/cambodia-stock-market-index-slips-market-cap-up-slightly-in-q1/

ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและปุ๋ยเคมีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางด้านผู้เชี่ยวชาญแนะนำและเรียกร้องให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตในท้องถิ่นแทน ซึ่งตามรายงานข่าวท้องถิ่น ราคาปุ๋ยนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 200% เป็น 300% หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ภายใต้การเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ย ส่งผลทำให้ภาคการเกษตรเกิดความท้าทายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ในขณะเดียวกันตัวแทนบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในกัมพูชา กล่าวว่า บริษัทได้เพิ่มการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เป็น 150 ถึง 160 ตันต่อเดือน และวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093182/imported-chemical-fertilizers-sees-hike-in-price-experts-call-for-switch-locally-produced-organic-fertilizers/