กองทุน LMC มอบเงินสนับสนุน สปป.ลาว ดำเนินการ 68 โครงการ

สปป.ลาว ได้รับเงินทุนสนับสนุนมากกว่า 18 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) เพื่อดำเนินการ 68 โครงการ ตามการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ภายในการประชุมแม่น้ำโขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมระดับรัฐมนตรีจาก สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย และเวียดนาม โดยกองทุนพิเศษ LMC ริเริ่มโดยรัฐบาลจีนในระหว่างการประชุมผู้นำ LMC ครั้งแรกในมณฑลไห่หนานของจีนเมื่อเดือนมีนาคม 2016 ซึ่งกองทุนพิเศษ LMC มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือที่เสนอโดย 6 ประเทศในกลุ่ม LMC ซึ่งในปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten128_68project.php

ญี่ปุ่นให้คำมั่นสัญญา 8.78 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับระบบเตือนภัยล่วงหน้า

รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะจัดหาเงิน 1 พันล้านเยน (8.78 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในหกจังหวัดของสปป.ลาว ระบบได้รับการออกแบบเพื่อให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศและช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เป็นอันตราย การใช้ระบบจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรงได้และยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสปป.ลาวด้วย โดยมีมูลค่ารวมของความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศต่อปีมากถึง 164 ล้านเหรียญสหรัฐ ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่นในการสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาวสำหรับปี 2564-2568 และช่วยให้ประเทศจัดการกับเหตุการณ์สภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างลาวและญี่ปุ่นกระชับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากทั้งสองประเทศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2558

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan23.php

สถานภาพความร่วมมือทางด้านการสนับสนุนและการลงทุน กัมพูชา-จีน

ตั้งแต่ปี 1992 ถึงปี 2020 จีนได้ให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนแก่กัมพูชามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และการลงทุนรวมของจีนภายในกัมพูชาอีกประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์ โดยเรื่องนี้ถูกกล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจัดโดยสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา โดย Sok Chenda Sophea เลขาธิการ CDC และ Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีนักธุรกิจชาวจีนประมาณ 300 คนเข้าร่วมด้วย ในการปราศรัยของเขา เลขาธิการ CDC ได้สรุปว่าจนถึงปี 2020 จีนได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับกัมพูชาถึง 4,655 ล้านดอลลาร์ และปริมาณการลงทุนของจีนในประเทศสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนตุลาคม โดยคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคการค้าและจากข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและจีนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2022 และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีอื่นๆ กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50980054/china-has-provided-over-4-billion-in-grants-and-27-billion-in-investment-from-1992-to-2020/

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000123605

เมียนมาได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับ COVID-19

ญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 45,000 ล้านเยนเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของเมียนมาร์จากวิกฤติ COVID-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ขยายการช่วยเหลือทางการเงินระหว่างการพบปะกับที่ปรึกษาแห่งรัฐนางอองซานซูจีที่เมืองเนปยีดอในวันที่ 24 สิงหาคม 63 ซึ่งจะประกอบด้วยงบประมาณช่วยเหลือฉุกเฉิน 30 พันล้านเยน และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) อีก 1.5 หมื่นล้านเยนเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงแผนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเมียนมาและรักษาช่องทางที่ชัดเจนสำหรับการลงทุนของญี่ปุ่น จนถึงขณะนี้ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ด้านการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่เมียนมา การช่วงเหลือเพิ่มเติมเกิดขึ้นไม่นานหลังได้รับเงินกู้ 80 พันล้านจัตภายใต้โครงการริเริ่มระงับการให้บริการหนี้ (DSSI) ที่รับรองโดยธนาคารโลกและประเทศภายใต้ G20 DSSI ได้รับการรับรองในเดือนเมษายน 63 เพื่อตอบสนองต่อการเรียกร้องของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ระงับการชำระหนี้แก่ประเทศที่ยากจนที่สุดเพื่อช่วยจัดการผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จนถึงขณะนี้เมียนมายังได้รับเงินครึ่งหนึ่งของกองทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ IMF จัดหาให้ในเดือนกรกฎาคม 63 เพื่อสนับสนุนเด้านศรษฐกิจส่วนที่เหลือจะได้รับในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถระดมทุนจากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า คาดการณ์ว่างบประมาณที่ใช้ไปจะขาดดุลงบประมาณที่ร้อยละ 5.41 ของ GDP ในปีนี้

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-receives-more-overseas-financial-support-combat-covid-19.html