จุรินทร์ เปิดงานเศรษฐกิจทันสมัย พัฒนาศักยภาพคน 4 กลุ่มทันโลกดิจิทัล

วันที่ 2 ธ.ค. 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา หัวข้อ “เศรษฐกิจทันสมัย เกษตรไทยก้าวหน้าไปกับสื่อดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยกล่าวในช่วงหนึ่งว่า การจัดงานนี้เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตการแปรรูปและบริการ มี 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ 1. เกษตรกร 2. นักศึกษา 3. ผู้ประกอบการ และ 4. วิทยุชุมชน ซึ่งโลกเปลี่ยนไป จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ผู้ผลิตสามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค และจะสามารถทำให้เกษตรกรไทยสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาต่อหน่วยที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของกิจกรรมวันนี้ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีการปรับตัว ใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแผนการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติตามการเปลี่ยนโลกของธุรกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคการเกษตรแบบยั่งยืน คือ การพัฒนาจากต้นน้ำ ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตหรือเพิ่มผลิตภาพ จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นการพัฒนาเกษตรยุคใหม่ หรือ Smart Farmer ด้วยการช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยมีสถานีวิทยุชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและขยายโอกาสทางการตลาดของคนในชุมชนในนามของกระทรวงพาณิชย์ ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ภาคการเกษตรของประเทศมีความเข้มแข็ง งานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์”

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1716441

บริษัทจีนสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตรในกัมพูชา

บริษัท เครื่องจักรกลการเกษตร Zoomlion ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Zoomlion Heavy Industry Science & Technology Co., Ltd. ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อช่วยให้ภาคการเกษตรของกัมพูชามีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตามคำแถลงของ Zoomlion เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายใต้ MoU นั้น Zoomlion จะให้บริการโซลูชั่นที่ชาญฉลาดและส่งช่างผู้เชี่ยวชาญมายังกัมพูชาเพื่ออำนวยความสะดวกในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรกรรมในท้องถิ่น เป้าหมายของ Zoomlion คือการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจอุปกรณ์การเกษตรในกัมพูชา ซึ่งความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของ Zoomlion กับกัมพูชาจะเริ่มต้นจากการส่งเสริมการปลูกและผลิตข้าวโพด ภายใต้การใช้เครื่องจักรกลอย่างเต็มรูปแบบรวมถึงการร่วมกันทำการวิจัยเทคโนโลยีการอบแห้งอัจฉริยะ โดย Zoomlion พยายามที่จะนำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่ชาญฉลาดมากขึ้นผ่านโซลูชั่นเครื่องจักรกลและผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของกัมพูชามีความทันสมัยในระยะยาว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50665904/chinese-company-to-support-development-of-local-agriculture/

เอสเอ็มอีกัมพูชามองหาการสนับสนุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

สหพันธ์สมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกัมพูชาเรียกร้องให้รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านภาษีเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาด SMEs โดยสมาคมยังคงให้การสนับสนุน SMEs ที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่นรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ทำการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งสมาคมวางแผนที่จะพูดคุยกับกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เผชิญรวมถึงขอความช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในการผลิต โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมีต้นทุนที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่นำเข้า จึงพยายามที่จะช่วยลดต้นทุนโดยรวมทั้งภาษี วัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า และค่าจ้างแรงงานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศสามารถแข่งขันได้ดีมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของ FASMAC ประเทศกัมพูชามีผู้ประกอบการ SMEs ถึง 5 แสนราย โดยเป็นผู้ประกอบการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรถึง 1.5 แสนราย ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/645740/smes-seek-support-to-boost-market-competitiveness/

แผนการเพาะปลูกตามสัญญาที่เพิ่มขึ้นในกัมพูชา

กระทรวงเกษตรกล่าวว่าเกษตรกรและผู้ค้าเริ่มตระหนักถึงประโยชน์ของข้อตกลงในการทำการเกษตร โดยตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกรกฎาคมมีการเซ็นสัญญาในภาคการผลิตข้าวถึง 60 โครงการ ซึ่งมากกว่าในช่วงเดี่ยวกันของปีที่แล้วถึง 20 โครงการ โดยการทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อและเกษตรกรที่จะทำการส่งมอบพืชผลในอนาคตตามวัน เวลารวมถึงกำหนดจำนวน คุณภาพและราคาไว้ล่วงหน้า ซึ่งปีนี้ผู้ผลิตข้าวได้ลงนามข้อตกลงกับสหกรณ์การเกษตรจาก 10 จังหวัด โดยลำดับความสำคัญคือการเพิ่มจำนวนการทำสัญญาทั่วประเทศเพราะเมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเกษตรกรจะได้รับการรับประกันว่าจะมีผู้ซื้อมารอรับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกรแน่นอน ภายใต้ข้อตกลงข้างต้น รวมถึงการจัดหาผู้ค้ารายใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตรภายในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50633015/contract-farming-schemes-on-the-rise-ministry/