จับตาเงินดองเวียดนามมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปี 64

ศูนย์วิจัย Fitch Solutions ได้ปรับการคาดการณ์ค่าเงินดองเวียดนามในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 22,900 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 22,800 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้ให้บริการทางการเงินคาดว่าค่าเงินดองเฉลี่ยอยู่ที่ 23,000 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐปี 2566 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากสถาบัน Fitch กล่าว่าแนวโน้มค่าเงินดองจะทรงตัวในระดับที่แข็งค่าขึ้น หลังจากค่าเงินดองแข็งค่าต่อดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 และยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกจากปัจจัยการไหลเข้าของเม็ดเงินทั้งการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่ที่สำคัญกว่านั้น ธนาคารกลางดูเหมือนจะสนับสนุนค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น เพื่อที่จะควบคุมราคานำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการส่งออกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะช่วยหนุนค่าเงินดอง ถึงแม้ว่าการค้าจะเผชิญกับอุปสรรคจากการหยุดชะงักในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แต่รัฐบาลประกาศให้กิจการกลับมาดำเนินการในโรงงาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1056845/vietnamese-currency-forecast-to-strengthen-against-us-dollar-in-2021.html

 

วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

โดย ศรัณย์ กิจวศิน I THE STANDARD

เวียดนามถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เวียดนามอาจไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเวียดนามมากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการเวียดนามจะทยอยปรับค่าเงินดองให้สูงขึ้นในช่วง 5-7% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พบว่าเวียดนามกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริง 4.2-5.2% ในปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดองจะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามส่วนมากเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น

สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ทำให้เวียดนามสูญเสียความได้เปรียบในการทำตลาดส่งออก เนื่องจากหากค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางของเวียดนามที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศถึง 54% ของการนำเข้าทั้งหมด ประกอบกับโครงสร้างการผลิตที่เอื้อให้สินค้าเวียดนามมีต้นทุนต่ำ จึงน่าจะบริหารจัดการลดส่วนแบ่งกำไรลงบางส่วนเพื่อรักษาตลาดไว้ได้ ทำให้เวียดนามจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในด้านการผลิตและส่งออกไว้ได้อีกระยะหนึ่ง

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-export-not-effecting-united-states-currency/