“เวียดนาม” ชี้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เม.ย. ปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคอุตสาหกรรมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและนโยบายการเงินแบบรัดตัวในหลายๆประเทศ ส่งผลให้การบริโภคของประเทศคู่ค้าลดลง และทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าและการส่งออกปรับตัวลดลงตามไปด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีน จะช่วยให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นสำหรับสินค้าเวียดนามในตลาดส่งออกสำคัญของประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-production-increases-in-april/252778.vnp

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม เดือน ม.ค. ลดลงฮวบ ช่วงเทศกาลเต็ด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ของเวียดนาม ในเดือน ม.ค. 2566 ลดลง 14.6% จากเดือนก่อน และ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุที่ดัขนีฯ ปรับตัวลดลง เนื่องมาจากตรงกับช่วงเทศกาลเต๊ด (Tet) และธุรกิจอุตสาหกรรมประสบปัญหาจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการลดลงของดัชนี IIP ในเดือน ม.ค. ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลง 33%, รถจักรยานยนต์ (32%), รถยนต์ (32%), เหล็กเส้นและน้ำตาล (29%) และโทรทัศน์ (24%) ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอย่างมากในเดือน ม.ค. ได้แก่ การขนส่ง ลดลง 27%, การผลิตยานยนต์ (24%), การผลิตเครื่องแต่งกาย (21%), อุปกรณ์ไฟฟ้า (19%) และการผลิตโลหะ (15%)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1482791/industrial-production-plunges-in-january-over-tet-holiday.html

‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามควรเร่งฉีดวัคซีนและดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการดำเนินนโยบายการคลัง คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นในเดือน พ.ย. หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการกลับมาฟื้นตัว และยังสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ย. ก็เพิ่มขึ้น 45% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกัน นับจากเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ประเด็นการส่งออก พบว่ายอดส่งออกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือน พ.ย. เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นจาก 6.1% ในเดือน ต.ค. มาอยู่ที่ 26.5% ในเดือน พ.ย.

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อแผนการฉีดวัคซีนแบบเร่งด่วน การใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการกักกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-push-for-rapid-vaccination-and-fiscal-policy-support-to-help-reboot-economy-911545.vov

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6.2% ในช่วง 2 เดือนแรก

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.2 เป็นผลมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 13.7 และ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ โดยภาคการแปรรูปและการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 การจำหน่ายน้ำและบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ขณะที่ ภาคเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งจากการประชุมที่กรุงฮานอยเมื่อเร็วๆนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคการแปรรูปและการผลิตของเวียดนาม มียอดค้าปลีกส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว เวียดนามนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอยู่ที่ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกลุ่ม 3 ประเทศข้างต้น นอกจากนี้ จากสถานการณ์เดียวกันนั้น ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ายังคงมีวัตถุดิบในการผลิตที่เพียงพอจนถึงต้นเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-industrial-production-up-62-pct-in-two-months/169482.vnp

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของนครโฮจิมินห์ เพิ่มขึ้น 7.26%

จากรายงานของสำนักอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของนครโฮจิมินห์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรมหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ วิศวกรรมการผลิต อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์พลาสติก และอาหารแปรรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่าสถานการณ์การค้าโลกอยู่ในภาวะการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง รวมไปถึงโรคไข้หวัดหมูแอฟริกา ที่ล้วนส่งผลต่อการผลิตทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครโฮจิมินห์ นอกจากนี้ ทางหน่วยงานเมืองได้ตั้งเป้าหมายในการปฏิรูปการบริหาร รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) และพัฒนาการบริหารสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ นวัตกรรม สตาร์ทอัพ และปัญหามลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในทิศทางที่ดีมากขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/hcm-citys-industrial-production-index-up-726-percent-404055.vov