ผลกระทบช่วงการ LOCKDOWN กรกฎาคม -สิงหาคม 2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบช่วงการ Lockdown กรกฎาคม -สิงหาคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 284 ราย และกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนจำนวน 1,164 ราย ผลการศึกษา ดังนี้

1. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 74.16 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 77.32 มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับไม่เพียงพอ ร้อยละ 48.22% และมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 46.50 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 61.24 โดยมีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.08 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 64.2 ด้านมุมมองต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในจังหวัด พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 50.00 ส่วนรูปแบบการจ้างงานในจังหวัด ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.31 เป็นการจ้างงานไม่เต็มเวลา/ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง หลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนตุลาคม ร้อยละ 32.63 ส่วนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.40 เติบโตน้อยกว่า 0.0 และมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.09 เติบโตน้อยกว่า 0.0 เช่นกัน ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด ควรกำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดาเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

2. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชน พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 72.7 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 59.2 ด้านมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 33.5% โดยมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.6 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.1 มีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.4 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 44.7 ด้านรูปแบบการจ้างงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ยังทำงานเป็นปกติ ส่วนมุมมองหลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 42.5 ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่ เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID 19 ให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

‘นครโฮจิมินห์’ อยู่ภายใต้แรงกดดันให้เปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

นายเหวียน วัน เน็น เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ กล่าวว่าเมืองโฮจิมินห์อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลต่อการเปิดเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งระดับความเลวร้ายของเศรษฐกิจและความทุกข์ยากของประชาชนถึงขีดจำกัดแล้ว เป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อ ทำให้เมืองต้องปรับแผนที่จะเปิดเมืองอีกครั้งและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนการนโยบายสาธารณะและการจัดการ กล่าวว่าการเปิดเมือง เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคงทางสังคมกลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะผู้คนยากจนต้องแสวงหาทางรอด ท่ามกลางการล็อกดาวน์

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/hcm-city-under-pressure-to-reopen-economy-municipal-leader-891877.vov

 

สธ.รับข้อเสนอผู้ประกอบการร้านอาหาร ชงศบค.ผ่อนคลาย

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยหลังผู้แทนสมาคมภัตตาคารไทยและอีก 8 สมาคม เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นข้อเสนอให้ผ่อนคลายมาตรการสำหรับร้านอาหารให้เปิดบริการได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกหลักการที่ต้องมีการดำเนินการเพื่อความปลอดภัย 3 ส่วน ได้แก่ 1.)การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น เว้นระยะห่าง ไม่แออัด อากาศถ่ายเทได้ดี 2.)พนักงานต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หากไม่ครบ 2 เข็ม ต้องตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ทุก 3-7 วัน  3.) ลูกค้าต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน, ผู้ที่เคยติดเชื้อต้องหายแล้ว 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน, มีผลตรวจ ATK หรือตรวจก่อนเข้าใช้บริการ โดยระยะแรกจะเน้นในร้านอาหารที่เป็นห้องปรับอากาศและห้างสรรพสินค้า โดยจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ในวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. 64

ที่มา: https://www.posttoday.com/social/general/661429

หนุนคลาย‘ล็อกดาวน์’ หากผู้ป่วยในรพ.ต่ำกว่าแสนราย

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต หนุนรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ในทุกพื้นที่ให้ประชาชนมีงานทำและธุรกิจมีรายได้ หากผู้ป่วยลดลงมาเหลือต่ำกว่า 100,000 ราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 200,339 ราย โดยคาดว่าผู้ติดเชื้อรายวันน่าจะเลยจุดพีคมาแล้วมีสัญญาณดี ส่วนกรณีที่ขยายล็อกดาวน์เพราะตัวเลขติดเชื้อไม่ลดลงไปจนถึงปลายปี 64 -ในช่วงที่รอฉีดวัคซีนต้องภาครัฐควรเตรียมงบประมาณในการเยียวยาธุรกิจและประชาชน ซึ่งควรประกาศและเตรียมเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่าอีก 300,000 ล้านบาท ในการล็อกดาวน์ครั้งนี้

ที่มา: https://www.naewna.com/business/596818

ยอดขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลกัมพูชาออกมาตรการเคอร์ฟิว

ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในกัมพูชา รายงานถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเคอร์ฟิวเป็นระยะเวลา 14 วัน ในช่วงเวลา 21.00 – 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. – 12 ส.ค. 2021 เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้ประชาชนภายในประเทศเร่งกักตุนสินค้ากันเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แม้ตลาดสดบางแห่ง เช่น ตลาดบึงเก็งกังในพนมเปญยังคงเปิดอยู่ ด้าน DFI Lucky Supermarkets ผู้ประกอบการซุปเปอร์มาร์เก็ตในกัมพูชา ซึ่งเป็นของนักลงทุนชาวฮ่องกง รายงานถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการอาหารสด เนื่องจากลูกค้ามองว่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า เมื่อเทียบกับตลาดสด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50910154/supermarkets-report-higher-sales-but-little-panic-buying/

ปิดตลาดล่าเสี้ยว หวังหยุดโควิดระบาด

ร้านค้าอย่างร้านขายปลา ร้านเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และร้านขายของชำอื่นๆ ในตลาดล่าเสี้ยว ทางตอนเหนือของรัฐฉาน จะปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 64 เพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด-19 เนื่องจากความแออัดยัดเยียด ซึ่งเกิดจากควบคุมการจราจรในตัวเมือง จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ การแพร่กระจายของโควิด-19 ในลาเสี้ยวยังมีทีท่าไม่ลดลง ที่ผ่านมาตลาดได้รับอนุญาตให้เปิดอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 64 ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด โดยวันที่ 1 สิงหาคม 64 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในลาเสี้ยว 1,813 ราย และเสียชีวิต 92 ราย ขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ที่มา: https://news-eleven.com/article/212888

ปธ.หอค้า ชี้ 4 ประเด็นเสี่ยงจากขยายล็อกดาวน์ คาด ศก.เสียหาย 1.2 แสนล้าน ใน 30 วัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยว่า จากประกาศควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพิ่มจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ภาคเอกชน มีความเห็นว่า 1.ภาคเอกชน ต้องการความชัดเจนในการจัดการ ประกาศที่ออกมาควรมีรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีการเตรียมความพร้อม 2.สำหรับที่มีการยกระดับเพิ่มใน 3 จังหวัด เห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีภาคการผลิตสูงมาก ควรต้องมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจ การคัดแยก และจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึง 3.จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าผลกระทบ 1 เดือน จะประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท 4. รัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักเป็นการด่วน

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2836170

อสังหาฯ หวั่นเจ็บแต่ไม่จบแนะ 3 แผนสกัด

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ รัฐบาลต้องวางแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนว่า ระหว่างล็อกดาวน์ 14 วัน โดยมี 3 วาระที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ 1.จัดให้มีการตรวจคัดกรองให้มากที่สุด 70 -80% ของคนในพื้นที่ ของประชาชนให้้มีโอกาสได้ตรวจคัดกรองในราคาที่ไม่แพง 2.เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดง ป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ 3.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ จะดูแลอย่างไร เพราะสุดท้ายต้องกลับภูมิลำเนาทำให้เกิดการแพร่เชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948347