ต่างประเทศ – อาเซียนจี้พม่าเปิดคุย-หยุดโหด

วันที่ 2 มี.ค. เอเอฟพีรายงานว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มจะกดดันคณะรัฐประหารของเมียนมาให้หยุดปราบปรามผู้ประท้วงอย่างนองเลือด หลังจากการปราบปรามเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ. มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย หลังจากสหประชาชาติประณาม อาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานกรณีนิ่งเฉยไม่ทำอะไรในยามเผชิญวิกฤต เพราะยึดติดกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก กระทั่งสิงคโปร์ ชาติที่ลงทุนใน เมียนมามากที่สุดเริ่มแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง นายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.การต่างประเทศสิงคโปร์กล่าวต่อรัฐสภาว่าการใช้กำลังอย่างรุนแรงต่อพลเรือนดังกล่าวน่าตกใจอย่างยิ่ง เราเรียกร้องให้ทหารเมียนมาอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด ขณะเดียวกันกระตุ้นให้เมียนมาหวนสู่เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย สำหรับเวทีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการวันที่ 2 มี.ค. แหล่งข่าวจากนักการทูตเผยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหลายคนมีแนวโน้มที่จะขอให้ทหารเมียนมาหยุดความรุนแรง หยุดทำร้ายประชาชน โดยอาเซียนจะขอให้กองทัพพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมาด้วย

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6059441

วิกฤตการทางการเมืองเมียนมาส่งผล SME ส่อเค้าทรุดหนัก

นักธุรกิจจากเมืองเปียงมานา (Pyinmana)  ของเนปยีดอ เผยยอดขายสินค้าตั้งแต่อาหารไปจนถึงสินค้าฟุ่มเฟือยลดลงอย่างมากหลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินหนึ่งปีของกองทัพเมียนมา พบว่าผู้คนต่างจับจ่ายเฉพาะสิ่งของจำเป็นเพราะวิตกกังวลกับสถานการณ์ปัจจุบันในตอนนี้ เช่น ยอดขายไข่ลดลงประมาณ 70% อีกทั้งยอดขายสัตว์ปีกและเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักตามไปด้วย ขณะนี้ตลาดยังไม่เปิดเต็มรูปแบบเนื่องจาก COVID-19 ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันผู้คนกังวลว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงและหลายคนเริ่มประหยัดมากขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจสตาร์ทอัพในพื้นที่และธุรกิจ SMEs ส่วน MSMEs (วิสาหกิจขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดย่อม) ล้วนประสบปัญหามากมายช่วงการระบาดและบางส่วนถูกบังคับให้ปิด MSMEs คิดเป็น 90% ของเศรษฐกิจประเทศและหากเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจกระทบต่อการว่างงานอย่างมากในอนาคต

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/growing-number-myanmar-smes-forced-fold-amid-political-crisis.html