‘วิกฤติขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน’ ทุบสายการบินเวียดนาม

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) รายงานว่าการโจมตีของรัสเซียในยูเครน ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการบิน เวลาเดือนทางและราคาตั๋วของสายการบินเวียดนาม ผลกระทบดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเส้นทางการบินหลายเส้นทางของเวียดนามแอร์ไลน์และสายการบินแบมบูแอร์เวย์ส มีจุดแวะพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องอยู่ในประเทศรัสเซีย อีกทั้ง รัสเซียประกาศห้ามสายการบินต่างๆ จาก 36 ประเทศใช้น่านฟ้าของรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ได้คว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สายการบินเวียดนามต้องค้นหาเส้นทางการบินใหม่ ทั้งนี้ เที่ยวบินเวียดนาม-ยุโรป ได้รับการเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าของรัสเซีย ไม่ว่าจะผ่านจีน คาซัคสถาน หรือแอฟริกาเหนือ โดยจะใช้เวลาบินนานกว่า 1-2 ชั่วโมง ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600-21,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเที่ยวบิน

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20220327/russia-ukraine-conflict-hurts-vietnamese-airlines-aviation-authority/66360.html

‘อนุสรณ์’ชี้ศึกยูเครนยืดเยื้อ 10มาตรการรับมือไม่เพียงพอ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการ 10 มาตรการช่วยประชาชนของรัฐบาลล่าสุดนั้นไม่เพียงพอ และครอบคลุมเวลา 3 เดือนนั้นสั้นเกินไป ซึ่งอย่างต่ำต้อง 6 เดือน เพราะคาดการณ์ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะบรรเทาผลกระทบจากพลังงานและน้ำมันแพงเป็นหลัก โดยมุ่งไปที่กลุ่มคนรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ขับขี่แท็กซี่ แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบอื่นๆ ดังนั้น ต้องเน้นไปที่มาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบเช่นต้องดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมให้มากที่สุด ส่วนเรื่องพลังงานก็ต้องลงทุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันนำเข้าลง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/644045

วงล้อเศรษฐกิจ – ซ้ำเติมผู้บริโภค

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก (คิดเป็น 28.5% ของปริมาณการส่งออกขอโลก) ดันราคาข้าวสาลีพุ่งสูงสุดในรอบหลายปี ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกให้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จึงมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของราคาข้าวสาลีในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อไทยในแง่ต้นทุนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบอย่างอาหารคน และอาหารสัตว์ ทำให้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ในปี 2565 ทั้งต้นทุนราคาวัตถุดิบและต้นทุนโลจิสติกส์จะอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่สุดแล้ว จะส่งผลกระทบไปยังราคาอาหารปลายทางที่ต้องจ่ายสูงขึ้นด้วย เช่น เนื้อสัตว์ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/ขนมปัง ตามราคาข้าวสาลีและราคาธัญพืชทดแทนที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6951461

ยูเครน-น้ำมันดันค่าสร้างบ้านพุ่ง

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ปี 2565 ว่า ภาพรวมตลาดมีสัญญาณที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จากยอดการจองปลูกสร้างบ้านในงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพ.ย. 2564 พบยอดเติบโตขึ้นกว่าปีก่อนถึง 20% จนมาถึงช่วงเดือนม.ค. – ก.พ. 2565 ยังมีผู้บริโภคที่ต้องการปลูกสร้างบ้านติดต่อมายังบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อต้นทุนบ้าน ทั้งวิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครน ต้นทุนราคาน้ำมัน  ในส่วนของสมาคมฯ ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงหากไม่เกิน 10-15% จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากปรับค่าแรงขึ้นถึง 30-40% จะส่งผลค่อนข้างมาก ซึ่งได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ในหลายส่วนด้วยกัน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/641396

นักวิชาการหวั่นศึกยูเครน ลามถึงต้นทุนสร้าง‘เมกะโปรเจกท์’

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิตแสดง ระเมินสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนว่า จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ของไทย ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง เหล็กประเภทต่างๆ ซึ่งสต๊อกผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแหล่งผลิตและส่งออกเหล็กแหล่งอื่นๆ ไม่สามารถชดเชยได้ในระยะสั้นและระยะกลาง ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าเหล็กทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตและใช้เหล็กต่างเร่งปรับตัวหาแหล่งวัตถุดิบอื่นทดแทนรัสเซีย และยูเครนเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 และ 12 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดราว 14% ของการส่งออกสินค้าเหล็กของทั้งโลก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/641162

‘เวียดนาม’ เผยอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย

บริษัท Agribank Securities JSC (Agriseco) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เวียดนาม มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบและราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งของสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน โดยประเทศรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีชั้นนำของโลกและอยู่ในอันดับที่ 3 ของผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้ระดับราคาสูงขึ้น 17.8% อีกทั้ง ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 22% ของอุปทานทั่วโลก ดังนั้นราคาข้าวโพดจึงเพิ่มขึ้น 8.4% นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงคราม ทั้งนี้ ตามรายงานของ Agriseco ชี้ว่าความตึงเครียดของสงครามยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาอาหารทั่วโลก โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลี 29% ของการส่งออกทั่วโลก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 19% ในขณะที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศส่วนใหญ่จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ตั้งแต่ข้าวสาลีไปจนถึงธัญพืช ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าราคาอาหารที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของธุรกิจปศุสัตว์และอาหารสัตว์ในท้องถิ่น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1161595/russia-ukraine-crisis-hits-local-livestock-industry.html

 

พาณิชย์หารือภาคเอกชน เช็คผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ร่วมกับทุกส่วนราชการของกระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิด สำหรับเรื่องราคาน้ำมันที่เป็นห่วงว่าจะพุ่งสูง อาจกระทบภาคการผลิตและราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในประเทศไทยได้ และเรื่องค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ซึ่งมีความสำคัญต่อการนำเข้าส่งออกของไทย ถือว่ายังไม่เสถียร สำหรับรัสเซียขณะนี้กำลังพิจารณานำเข้าสินค้าจากไทยบางรายการ ต้องดูว่าค่าเงินยังมีความผันผวนมากน้อยแค่ไหน เมื่อค่าเงินรูเบิลมีความเสถียรแล้ว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดยในภาพรวมยังไม่กระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/638530

 

‘ธนวรรธน์’เชื่อ ศึกสู้รบ’ยูเครน’ กระทบวงจำกัด

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงยูเครน-รัสเซีย มองว่า อยู่ในวงจำกัดไม่กระทบเศรษฐกิจโลก ช่วงแรกของการประกาศบุกยึดยูเครน ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงร้อยละ 2-5 เพราะคาดการณ์อนาคตไม่ได้ อาจทำให้รัสเซียส่งออกน้ำมันไม่ได้หรือรัสเซียไม่ส่งน้ำมันให้ยุโรป หากสู้รบบานปลาย ตลาดจึงคาดการณ์การค้าขาย การท่องเที่ยวโลกจะแย่ลง หากความรุนแรงทั้งสองประเทศยืดเยื้อ จนทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะกระทบต่อไทย ทำให้ราคาขายปลีกแพงขึ้น กระทบต่อการท่องเที่ยว การส่งออก กระทบจีดีพีไทย ขยายตัวร้อยละ 3.5-4 และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวรุนแรง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/638271