ช่วยฟื้นส่งออกขึ้นจากหลุม สศช.แนะรัฐบาลใหม่เร่งเจรจาการค้าเสรี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากในปี 2565 โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 3.4% จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่คงเผชิญกับแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายข้อไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และแรงกดดันทางด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและการค้าโลก ด้าน สศช.คาดว่าปริมาณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.1% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 5.1% ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวประมาณ 1% เมื่อคิดจากมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่การส่งออกขยายตัวได้ 4.2% โดยในช่วงที่เหลือของปี 2566 รัฐบาลควรให้ความสำคัญ การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน การแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้สามารถส่งออกนำเข้าสินค้าได้ง่ายขึ้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/feature/2694876

สศช.เผยสูตรใหม่พบคนจนพุ่ง 8.1 ล้านคน

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้พบข้อมูลคนจนของประเทศไทย พบว่ามีหลากหลายมิติไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น เพื่อใช้วัดคนจนในมิติอื่นๆ โดยวัดผ่าน 4 มิติ คือ มิติด้านการศึกษา มิติการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ และมิติด้านการเงิน ซึ่งแต่ละมิติมีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ตัวชี้วัด รวมเป็น 12 ตัวชี้วัด ซึ่งหากใช้ตัวชี้วัดความยากจนหลายมิติเทียบกับความยากจนที่วัดผ่านเกณฑ์รายได้ ผลจากการใช้ดัชนีดังกล่าวพบว่า หากวัดคนจนที่อยู่ต่ำเส้นความยากจนหรือในฝั่งรายได้จะมีคนจนเพียง 4.4 ล้านคน แต่ถ้าเอาดัชนีความยากจนหลายมิติมาวัด พบว่า มีคนจนสูงถึง 8.1 ล้านคน ซึ่งมิติสำคัญที่พบมากสุดคือ ด้านความเป็นอยู่ มีสูงถึง 35% รองลงมากคือความมั่นคงด้านการเงิน 29% เป็นสัดส่วนที่ทำให้คนมีความยากจนมากสุด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2581096

สภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยปี 64 ยังมีความเสี่ยง ปรับลด GDP โต 0.7-1.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2/64 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 และขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 โดยแรงหนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัว 4.6% และการลงทุนรวมขยายตัว 8.1% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2% สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 นั้น คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.7% – 1.2% หรือฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63 แต่เป็นการปรับลดจาก 1.5% – 2.5% ในการประมาณการครั้งก่อน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2167686

จับตา “สภาพัฒน์” ถกข้อเสนอเอกชนสู้โควิด ก่อนดันชงเข้าครม.

จับตา “สภาพัฒน์” เชิญ “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน” จาก 13 หน่วยงาน พิจารณา 12 ข้อเสนอสู้โควิดต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนดันชงเข้าครม.ต่อไป วันพรุ่งนี้ (20เม.ย.63) ที่สํานักงานเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะมีการประชุม “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่  2/2563  การประชุมนัดที่ 2 ของที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน จะนำข้อเสนอของ ทีมฝ่าวิกฤติโควิด  5 ด้าน ที่เคยมี 12 ข้อเสนอไปแล้วมาพิจาณาอีกครั้ง ได้แก่ 1.ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน 2. เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า 3.ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม 4.ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20% 5.รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ 6.ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ 7.อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาท 4-8 ชม/วัน 8.ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% 9. ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง 10. บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงาน ในช่วง COVID-19 มาหักภาษี 3 เท่า 11.การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน 12.การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนคณะที่ปรึกษาฯที่แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่  1. กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย 2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยหอการค้าไทย 3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ 4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ 5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ประกอบด้วยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/business/430570?utm_source=homepage&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=corona

สศช.ขอเอกชนเคาะข้อเสนอเร่งด่วนใน 1 สัปดาห์

สศช. ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนนัดแรก ให้แบ่ง 5 กลุ่มกลับไปจัดลำดับความสำคัญข้อเสนอมาคุยอีกครั้ง 20 เม.ย.นี้ ก่อนรวบรวมเสนอรัฐบาล นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นัดแรก ว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งหมดทุกกลุ่มที่เสนอมาในการประชุมครั้งนี้ แต่เนื่องจากข้อเสนอมีหลายเรื่อง จึงจัดกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้นต่างๆ กลับไปกลั่นกรอง และจัดลำดับความสำคัญว่าข้อเสนอนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำหรือไม่ หรือมีความคุ้มค่ามากเพียงใด จากนั้นจึงให้รวบรวมข้อเสนอมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.นี้ จากนั้น สศช.จะพิจารณาอีกครั้งว่า ข้อเสนอที่เสนอมานั้นเรื่องใดทำได้ทันที หรือเรื่องให้ต้องนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน หากข้อเสนอใดมีความพร้อมจะเสนอให้ครม.พิจารณา พร้อมทั้งยังเปิดพื้นที่สาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นผ่าน Facebook “ร่วมด้วยช่วยคิด” ซึ่งจะได้รวบรวมประมวลและนำเสนอครม.ต่อไปด้วย. สำหรับการทำงานทั้ง 5 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ,กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ,กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ,กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร และกลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/768722