รัฐบาล สปป.ลาว ให้คำมั่นว่าจะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

การประชุมของรัฐบาล สปป.ลาว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค.2565)  รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศและยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มีการผิดนัดชำระหนี้ โดยการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะเป็นหนึ่งใน 13 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลเห็นพ้องร่วมกันในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาด และอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ที่ประชุมรับรองรายงาน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 เป็นการประเมินความสำเร็จของรัฐบาล ฉบับที่ 2 กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและงบประมาณในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้  ฉบับที่ 3 เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของหน่วยแลกเปลี่ยนเงินตรา สถาบันการเงินรายย่อย (ไมโครไฟแนนซ์) โรงรับจำนำ และร้านขายเครื่องประดับ ฉบับที่ 4 การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง การให้บริการเชื้อเพลิง และการปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมัน และฉบับที่ 5 ครอบคลุมถึงการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten141_Govtpledges.php

“เวียดนาม” ตั้งเป้าคงหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP ปี 2573

คุณ Anh Tuấn รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเวียดนาม กล่าวว่ากลยุทธ์ในการบริหารหนี้สาธารณะในวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของปี 2564-2573 ซึ่งภายใต้กลยุทธ์ข้างต้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต้องไม่เกิน 60%, สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาล ต้องไม่เกิน 50%, สัดส่วนหนี้ที่เป็นเงินต่างต่างประเทศทั้งหมด ต้องไม่เกิน 45% และการชำระหนี้คืน ต้องไม่เกิน 25% ของเงินงบประมาณทั้งหมด อีกทั้งได้ตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี มีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 และขาดดุลงบประมาณราว 3% ของ GDP ทั้งนี้ ตามตัวเลขทางสถิติของกระทรวง แสดงให้เห็นถึงหนี้สาธารณะชะลอตัวจาก 18.1% ต่อปี ในปี 2554-2558 มาอยู่ที่ 6.7% ในปี 2559-2560 โดยโครงสร้างหนี้สาธารณะได้รับการปรับปรุงที่ยั่งยืน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1252224/keeping-public-debt-below-60-per-cent-of-gdp-by-2030-targeted.html

รมว.คลัง กล่าวสปป.ลาวหนี้เพิ่มแต่ยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเปิดเผยว่า จำนวนการชำระหนี้ประจำปีเพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บุญชม อุบลปะสุทธิ์ ชี้แจงสาเหตุหลักของหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นของประเทศ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ รัฐมนตรีให้ความมั่นใจกับ NA ว่ารัฐบาลจะไม่ยอมให้ประเทศล้มเหลวในการผิดนัด “หนี้จำนวนมหาศาลสะสมจากการกู้ยืมจำนวนมากเพื่อการพัฒนาประเทศระหว่างปี 2010 และ 2016” รัฐมนตรีกล่าวในการประชุมสามัญครั้งที่ 3 ของสภานิติบัญญัติครั้งที่ 9 ของ NA ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา สปป.ลาวได้กู้ยืมเงินประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออก เงินกู้เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศของเราในช่วงอกีทั้งรัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจเกิดการรั่วไหลทางการเงิน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten118_Debts.php

หนี้สาธารณะกัมพูชา พุ่งแตะ 9.81 พันล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) ประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 9.81 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นร้อยละ 68 ของ Bilateral Developing Partners (DPs) และอีกร้อยละ 32 จาก Multilateral DPs ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ด้าน RGC ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานฉบับใหม่กับ DPs เป็นจำนวนเงินรวม 317.24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐในภาคส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวและเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยรายงานสถานการณ์หนี้สาธารณะของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังระบุว่า จีนถือเป็นเจ้าหนี้รายสำคัญในหมวดของหนี้จากต่างประเทศของกัมพูชา หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 40.72 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันสถานะหนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงสามารถจัดการได้ มีความยั่งยืนและมีความเสี่ยงต่ำ แม้ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็ตาม

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501094257/
cambodias-public-debt-at-9-81-billion-says-report/

‘เวียดนาม’ ยัน! คุมหนี้สาธารณะได้

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเวียดนามสามารถควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ มองว่าการปรับเพิ่มวงเงินกู้ของหนี้สาธารณะ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และดำเนินการรักษาระดับหนี้สาธารณะที่ควบคุมได้ในระยะกลาง-ยาว ทั้งนี้ จากตัวเลขทางด้านสถิติของสำนักงานการบริหารหนี้ แสดงให้เห็นว่าหนี้สาธารณะของเวียดนามลดลงจาก 63.7% ของ GDP ในปี 2560 มาแตะอยู่ที่ 55.9% ในปี 2563

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1193544/vn-manages-to-control-public-debt.html

 

หนี้สาธารณะเวียดนาม พุ่งแตะระดับ 3,500 ล้านล้านดอง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเวียดนาม ภายใต้กระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่าหนี้รัฐบาล มีจำนวน 3,100 ล้านล้านดอง มาจากเงินกู้ต่างประเทศ 1,100 ล้านล้านดอง หากเทียบกับปี 2560 ชี้ให้เห็นถึงรัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 533 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กู้เงินรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวน 333 ล้านล้านดอง รองลงมาเกาหลีใต้ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาการให้กู้ยืมของเวียดนามกับสถาบันการเงินระดับโลก พบว่าธนาคารโลก (World Bank) เป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวน 382 ล้านล้านดอง รองลงมาธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้คาดการณ์ว่าหนิ้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 46%-47% ของ GDP

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-public-debt-totals-vnd3-500-trillion-as-of-june-2021-2010781.html

ธุรกิจท่องเที่ยวคึกคัก นักวิชาการชี้อานิสงส์ เปิดประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิตเปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นหลังสงกรานต์เงินสะพัดมากกว่าที่หลายสำนักวิจัยคาดการณ์ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น ขณะที่การขยายเพดานเงินกู้เป็น 70% ต่อจีดีพี มีความจำเป็น เพราะในความจริง เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปีแล้ว และยังต้องกู้เงินมาชดเชยงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ยังมีความน่าเป็นห่วงว่าความเสี่ยงของการที่ไทยจะถูกลดอันดับเครดิตหรือความน่าเชื่อถือนั้น มีความเป็นไปได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หากหนี้สาธารณะทะลุระดับ 70% ของจีดีพีและระบบเศรษฐกิจไม่สามารถหารายได้มากพอที่ทำให้การชำระหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการคลังของไทยยังพอไปได้เพราะยังมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำมาก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/647982

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลในปีหน้า

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกเพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการลงทุนสาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพของประเทศ ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นส่วนหนึ่งของการลดปริมาณเงินกู้จากต่างประเทศลง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศมากกว่า เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการลงทุนสาธารณะประมาณ 35 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ชลประทาน โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งกระทรวงระบุเสริมว่าการออกพันธบัตรถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ รวมถึงในปัจจุบันปริมาณหนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50958999/cambodia-plans-the-inaugural-issuance-of-300-million-sovereign-bonds-of-300-million-next-year/

คลังชงเพิ่มกรอบเพดานก่อหนี้สาธารณะ70%

วันจันทร์นี้ (20ก.ย.)จะมีการประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีคณะกรรมการที่มาจากผู้บริหารระดับสูงของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ โดยมีวาระสำคัญคือ การขยายกรอบการก่อหนี้สาธารณะ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ได้เสนอทางเลือก คือ การขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ให้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่อยู่ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ขณะที่กรอบเพดานการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นมา 10% นั้น จะทำให้รัฐบาลมีช่องทางการกู้เงินได้เพิ่มอีกราว 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ไทยเคยมีระดับหนี้เฉียดเข้าใกล้ 60% ต่อจีดีพีแต่ไม่เคยทะลุ 60% ต่อจีดีพี

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/961051

คลังยังไม่มีแผนกู้เพิ่ม1ล้านล้าน มาดูแลโควิด

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยถึงกระแสข่าวกระทรวงการคลังเตรียมกู้ฉุกเฉินเยียวยาโควิดอีก 1 ล้านล้านบาทว่า ยังไม่ทราบนโยบายดังกล่าว แต่ปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน1 ล้านล้าน สามารถใช้ได้จนถึง 30 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ยังต้องมีการหารือในคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเพื่อขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะ เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของงบประมาณนี้ คาดอยู่ที่ประมาณ 57-58% ต่อจีดีพี แต่หากจะกู้เพิ่มขึ้นอาจสูงกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้นป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งทุกประเทศได้ก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลแก้ปัญหาโควิด

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/839321