EU หนุนกัมพูชา ส่งเสริมด้านการค้าระหว่างประเทศ

สหภาพยุโรป (EU) พร้อมให้การสนับสนุนกัมพูชาทางด้านเทคนิค ในการริเริ่มโครงการ “ARISE Plus Cambodia” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของกัมพูชาในการปฏิบัติและดำเนินการตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค โดยองค์ประกอบหลักสามประการของโครงการ ARISE Plus Cambodia ได้แก่ นโยบายการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา Sok Sopheak โดยโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบูรณาการการค้าของกัมพูชา (CITS 2019-2023) ซึ่งจะเน้นการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศให้เข้ากับห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501293704/eu-backed-project-to-boost-cambodias-trade/

พริกกัมพูชาเตรียมเจาะตลาดทั่วโลก ผ่านการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า

GIZ หน่วยงานพัฒนาของเยอรมนี (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit) กำลังทำงานร่วมกับผู้แปรรูปพริกในท้องถิ่นของกัมพูชา เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตและเจาะตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก โดย GIZ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับตัวแทนจากทางรัฐบาลกัมพูชา สมาคมภาคเอกชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และหน่วยงานด้านการพัฒนาเพื่อรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรายงานเกี่ยวกับห่วงโซ่มูลค่าเมล็ดพันธุ์สู่การส่งออกสำหรับพริกในกัมพูชา ซึ่ง GIZ กล่าวว่ารายงานนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตพริก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนและเข้าถึงตลาดระดับภูมิภาคได้มากขึ้น พริกปลูกทั่วราชอาณาจักร โดยไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นปลายทางส่งออกหลักของพริกไทยกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50978806/chilli-value-chain-being-boosted-to-tap-new-global-markets/

ผลผลิตทางการเกษตรของกัมพูชา 9 รายการ ถูกยกขึ้นเป็นพืชมูลค่าสูง

รัฐบาลออสเตรเลียได้จัดทำรายการพืชผลมูลค่าสูงของกัมพูชาจำนวน 9 รายการ โดยได้ศึกษาห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรของกัมพูชา-ออสเตรเลีย (CAVAC) ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า มะม่วง ถั่วเลนทิล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริก มันเทศ อะโวคาโด งา น้ำตาลปี๊บ และกล้วยตาก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ โดยเพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายให้กับเกษตรกร ผู้แปรรูป และผู้ที่มีส่วนได้เสียในภาคการเกษตรของกัมพูชาในการวางแผนการผลิตพืชผล ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาหวังว่าจะเพิ่มความต้องการในตลาดสำคัญๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป จีน และอาเซียน และหาผู้ซื้อรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งภาคเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชา ส่วนการจ้างงานคิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 65 ของประชากรภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50924268/nine-agricultural-products-listed-as-high-value-crops/

ฝรั่งเศสขยายการสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าเกษตรกรรมยั่งยืนของลาวผ่านโครงการ Mekong Tea

รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าของเกษตรกรรมเพื่อยั่งยืนของสปป.ลาว ผ่านโครงการ Mekong Tea Project เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่มูลค่าการผลิตชาในสปป.ลาวและเพิ่มผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรรายย่อย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ดร. ลิงค์แฮม ดวงสะหวัน กล่าว่า “ชาคุณภาพปานกลางถึงสูงให้รายได้ค่อนข้างสูงแก่ชุมชนในท้องถิ่น ศักยภาพนี้ควรได้รับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เพื่อให้ทั้งชุมชนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติได้รับประโยชน์จากรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของโครงการสามปีนี้คือการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรรายย่อยผ่านการกำกับดูแลห่วงโซ่มูลค่าชาที่ดีขึ้นและการเข้าถึงตลาดที่ดีขึ้นด้วยการส่งเสริมผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_France_47.php