AMRO ชี้ “ศก.เวียดนามเติบโตได้ดี”

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโต GDP ของเวียดนามสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ ปี 2565 และจะสูงเป็นอันดับที่ 1 ในปีหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 6.3% ในปีนี้ และ 6.5% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าตัวเลขอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่อยู่ประมาณ 4.3% และ 4.9% ตามลำดับ

นอกจากนี้ เวียดนามถือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แต่อย่างไรก็ดี ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น 5.2% ในปีนี้ โดยเวียดนามยังมีฐานะทางการคลังที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันยังใช้นโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-to-perform-well-amro-post955081.vov

เกษตร ถก อาเซียน +3 ถกปัญหาโควิดกระทบความมั่นคงอาหาร

นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย (SOM-AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 20 สมัยพิเศษ (Special SOM-20th AMAF Plus 3) ผ่านการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของกิจกรรมความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ภายใต้ ASEAN Plus Three Cooperation Strategy (APTCS) Framework on Food, Agriculture, and Forestry และรับทราบผลการดำเนินงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) และสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยไทยได้กล่าวในที่ประชุมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบอาหารทั้งหมด ประเทศไทยเห็นควรส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของอาเซียนบวกสามมากยิ่งขึ้น ในด้านการแบ่งปันข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม การส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในด้าน Food system ความมั่นคงอาหาร

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956592

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000123605