เวียดนามนำเข้ารถยนต์เดือนพ.ย. ลดลง 11%

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) เปิดเผยว่าในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 12,237 คัน เป็นมูลค่า 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นำเข้าจากไทย อินโดนีเซียและจีน มีจำนวน 5,927 , 3,823 และ 1,204 คัน ตามลำดับ ในขณะที่ ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 92,261 คัน ลดลงร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตามตัวเลขสถิติของสำนักงานข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นมูลค่า 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาไทย 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ญี่ปุ่น 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 36,359 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยจำนวนทั้งหมด 246,768 คัน

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-car-imports-down-11-in-november-315439.html

อุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

จากการประชุมโดยศูนย์บริหารเศรษฐกิจเวียดนาม (Central Institute for Economic Management :CIEM) ณ กรุงฮานอย ในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา กล่าวถึงประเด็นในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนานโยบายภาษีให้ครอบคลุม และการส่งเสริมทางด้านการเงิน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมหลักของเวียดนาม และจากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าธุรกิจรถยนต์ในประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปี่ผ่านมา ด้วยปริมาณรถยนต์ 250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงปี 2558-2559 ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันยุทธศาสตร์การเงินและรองประธานสมาอุตสาหกรรม ระบุว่าจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญในการวางแผน เพื่อจะส่งเสริมธุรกิจอย่างถูกต้อง และเสนอให้ยกเว้นภาษีการบริโภคพิเศษ สำหรับสินค้าผลิตในประเทศ รวมไปถึงส่งเสริมสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นแก่ผู้ประกอบการ SMEs

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/domestic-automobile-industry-in-need-of-policies-to-raise-competitiveness-405092.vov

อุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามยังคงเติบโต … แม้การนำเข้าจากไทยจะเพิ่มกว่าร้อยละ 46

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เวียดนามเป็นประเทศที่ตลาดรถยนต์มีโอกาสเพิ่มปริมาณขึ้นอีกมากในระยะอีก 5 ถึง 7 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มได้ แม้ปัจจุบันเวียดนามจะยังตามหลังประเทศอื่นๆในอาเซียนอยู่หลายด้าน อย่างไรก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเวียดนามมีการพัฒนาต่อเนื่องในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงเช่นปัจจุบัน ภาครัฐมีการออกแบบนโยบายที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนได้อย่างเหมาะสม การสร้างระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งและเข้าถึงลูกค้าได้หลายระดับ รวมถึงการพัฒนาความน่าเชื่อถือของรถยนต์สัญชาติเวียดนามเอง ก็อาจทำให้ภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านี้

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวียดนามที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ทำให้ต้องพึ่งพิงรถยนต์นำเข้าในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ไทยยังมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังตลาดเวียดนามได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในระยะยาวอาจจะมีโอกาสที่การส่งออกไม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงดังเช่น ณ ขณะปัจจุบัน เนื่องจากคาดว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นในเวียดนามดังกล่าวข้างต้น

สำหรับในปี 2562 นี้ ไทยยังคงมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ไทยมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปตลาดเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเป็น 83,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 46 จากที่ปี 2561 สามารถส่งออกไปได้ประมาณ 57,000 คัน ส่วนในปี 2563 ที่จะถึงนี้ก็คาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 100,000 ถึง 103,000 คัน โดยประเภทรถที่จะเติบโตได้ดี คือ รถยนต์นั่ง ที่ตลาดให้ความนิยมค่อนข้างมาก

โดยสรุป แม้ว่าพื้นฐานต่างๆของเวียดนามปัจจุบันจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนให้แข็งแกร่งขึ้นมายังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มาก แต่ด้วยโอกาสที่ตลาดรถยนต์ในประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงในอนาคต และการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะต่อไปที่มุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็อาจจะเป็นโอกาสให้ค่ายรถสัญชาติเวียดนามพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตนเองขึ้นในประเทศได้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามเติบโตได้ในระดับที่จำกัดในระยะข้างหน้า แต่เวียดนามเองก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอีกมากเพื่อให้พัฒนาขึ้นไปได้ถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะรองรับต่อความต้องการของตลาด รวมถึงอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่สูงมาก เมื่อค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลี และตะวันตก มีแนวโน้มจะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆในฐานการผลิตอื่นในภูมิภาคอาเซียน และมีโอกาสที่จะส่งออกมายังเวียดนามได้เช่นเดียวกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3038.aspx