เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx