มูดี้ส์ชี้จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3%

คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า “มูดี้ส์” หรือ Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากข้อแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย มีนโยบายมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้

ในขณะที่ข้อที่สอง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลัง อย่างต่อเนื่อง ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบาย ทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2778901

กัมพูชาเก็บ VAT แตะ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ณ ตุลาคม 2022

รัฐบาลกัมพูชาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่ารวม 1.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าและบริการในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2022 ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) โดยรายได้ที่จัดเก็บได้นั้นคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 92 ของแผนการจัดเก็บประจำปี 2022 ซึ่งเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวรัฐบาลกัมพูชาสามารถจัดเก็บภาษีได้มากกว่า 157 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กรมภาษีอากร (GDT) กล่าวเสริมว่าในช่วงเดียวกันได้จัดเก็บภาษีทุกประเภทไปแล้วรวม 3.21 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 113.99 ของแผนการจัดเก็บภาษี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 โดยรายงานอย่างไม่เป็นทางการแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บภาษีและภาษีศุลกากรของรัฐบาลตลอดทั้งปี 2022 อาจจะทะลุ 6.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากมูลค่า 5.07 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501216673/1-5-billion-collected-as-vat-till-nov-2022-june-most-rewarding/

รัฐบาลสปป.ลาวให้คำมั่นว่าจะลดการขาดดุลการคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสม

รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะลดการขาดดุลการคลังให้เหลือเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทุกปีเริ่มตั้งแต่ปี 2564-2568 คำมั่นสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่สปป.ลาวกำลังพยายามลดหนี้สาธารณะและบรรเทาความตึงเครียดด้านงบประมาณที่ขาดดุลต่อเนื่องจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสปป.ลาวมีโครงการลงทุนใหญ่มากมายไม่ว่าจะเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหรือเมกาโปรเจกต์อย่างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ทำให้สปป.ลาวมีความเสี่ยงที่อาจผิดนัดชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้และเงินคงคลังที่ไม่สมดุลกับรายจ่ายของประเทศทั้งนี้การที่จะลดการขาดแคลนงบประมาณ รัฐบาลจะต้องลดการใช้จ่ายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระยะยาวรัฐบาลจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการการขาดดุลและทำให้แน่ใจว่าหนี้ของประเทศอยู่ภายใต้การควบคุม ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่สปป.ลาวกำลังเผชิญกับความตรึงเครียดของเศรษฐกิจจากรระบาดของ COVID-19

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt216.php