ขนส่งสินค้าผ่านแดนไปเวียดนาม โอกาสที่ไม่ควรมองผ่าน

โดย กมลมาลย์ แจ้งล้อม I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ I SCBS

การค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าผ่านแดนสำคัญ มีสัดส่วนปริมาณการค้ากว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2014-2018) การค้าชายแดนไปเมียนมา ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย ขยายตัวราว 3% CAGR ขณะที่ การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้ สิงคโปร์และเวียดนาม เติบโตกว่า 12%CAGR โดยในปี 2018 ปริมาณการค้าผ่านแดนไปเวียดนามสูงถึง 1.3 ล้านตัน หรือมีสัดส่วนกว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม

เวียดนามจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและอบแห่ง, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในระยะกลาง (2019-2021) การค้าผ่านแดนของไทยกับเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 30%CAGR ตามทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามที่เติยโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการผลิตและการบริโภคภาคในประเทศ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติในการตั้งฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้นเพื่อเลี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ

ด้านการบริโภคภายในประเทศ ด้วยจำนวนประชากรชาวเวียดนามที่มากถึง 90 ล้านคนและราว 15% เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพ รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายอย่างรวดเร็วของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)

ที่ผ่านมา ปัญหาสภาพถนน ความแตกต่างของกฎหมายขนส่ง และความซับซ้อนของพิธีการศุลกากร ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนาม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่ง โดยส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนามใช้เส้นทาง R12 เป็นหลัก เนื่องจากระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางอื่นและเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังนครหนานหนิงมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีนใต้

เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ในเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงเริ่มเปิดเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างเป็นทางการภายใต้ข้อตกลง GMS-CBTA ซึ่ง อีไอซี ประเมินว่า จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงราว 45% และลดต้นทุนการขนส่งลงกว่า 20% โดยกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (GMS-CBTA) เพื่อลดข้อจำกัดและอุปสรรคของการขนส่นผ่านแดนรูปแบบเดิม โดยครอบคลุทั้งทางด้านพิธีการศุลกากรและระบบการจราจร เช่น การดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (SWI) การปฏิบัติการร่วมกันในการตรวจสอบสินค้า ณ จุดผ่านแดน (SSI) และการกำหนดเส้นทางเดินรถที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งตามกรอบความตกลงนี้จะอนุญาตให้รถบรรทุกสัญชาติไทยสามารถขนส่งสินค้าไปถึงเวียดนามได้โดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าที่พรมแดนลาว

จากการเติบโตของการค้าผ่านแดนที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ผู้ประกอบการเติบโตเฉลี่ยราว 10% และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20% และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของผู้ประกอบการภายใต้โควตา GMS-CBTA จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง จากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่าจำนวนรถขนส่งสินค้าที่จดทะเบียนไม่ได้แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนรถขนส่งสินค้าน้อยกว่า 30 คันเฉลี่ยสูงถึงราว 23% และการเติบโตของรายได้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนรถขนส่งสินค้าระหว่าง 30-100 คันอยู่ที่ 13%

หลังจากเปิดการเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภายใต้กรอบความตกลง GMS-CBTA อีไอซี ประเมินว่าผู้ประกอบการที่ถือโควตาจะสามารถควบคุมต้นทุนการขนส่งและลดระยะเวลาในการขนส่งให้แข่งขันได้มากขึ้น จากการลดการพึ่งพาผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของธุรกิจนี้ ได้แก่

  1. ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  2. การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และจากผู้ประกอบการต่างชาติภายใต้โควตา GMS-CBTA
  3. การขยายโครงข่ายขนส่งระบบรางในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6139