ต่างชาติยังสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเมียนมาเชื่อยังแข็งแกร่งแม้ส่งออกลดลง

ความสนใจของนักลงทุนต่างชาติในภาคการผลิตเสื้อผ้ายังคงแข็งแกร่งแม้จะมีปริมาณการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงในปีงบประมาณ 2562-2563 จากข้อมูลของคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (MIC) มีบริษัทต่างชาติ 178 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในเมียนมาระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 แม้การส่งออกจะลดลงเหลือเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ โดยลดลงมากกว่า 24 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการยกเลิกคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปจากปัญหา COVID-19 ทั้งโรงงานยังเลิกจ้างหรือปิดกิจการซึ่งส่งผลกระทบถึงแรงงานกว่า 700,000 คนโดยเฉพาะแรงงานหญิงในโรงงาน 600 แห่ง และการหยุดชะงักของการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศ โดยร้อยละ 70 ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลี แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จากการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลและสหภาพยุโรปทำให้อุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการส่งออกจากชายแดนเมียนมา – ไทย ในเมียวดีโดยมีการส่งออกมูลค่า 71 ล้านดอลลาร์ไปยังประเทศไทย ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนรับมือทางเศรษฐกิจโดยได้จัดสรรเงินกู้ยืมให้กับอุตสาหกรรมที่มีปัญหารวมถึงอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าด้วย ภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเมียนมามีรายรับจากการส่งออก 5 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2561-2562

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/investor-interest-myanmar-garment-sector-still-strong-despite-lower-exports.html

รัฐเดินหน้าแผน travel bubble รับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศวันละ 1 พัน

กระทรวงท่องเที่ยวเดินหน้า แผน travel bubbleเปิดรับนักท่องเที่ยว วันละ1,000 คนเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เตรียมเสนอแนวทางดำเนินการให้ศบค.พิจารณา 17 มิ.ย.นี้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดัน travel bubble หรือ การจับคู่ประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศเริ่มดีขึ้น
ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/625975

‘ไทยเวียตเจ็ท’ กลับมาเปิดบริการในประเทศ

สายการบินไทยเวียตเจ็ท (Thai Vietjet) กลับมาเปิดบินเส้นทางระหว่างกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) และสนามบินนานาชาติภูเก็ตในวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและเป็นสายการบินรายแรกที่กลับมาดำเนินต่อ จากข้อมูลข้างต้นนั้นเป็นไปตามแถลงของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ที่จะเปิดเส้นทางบินนานาชาติภูเก็ตในประเทศ ทั้งนี้ สายการบินไทยเวียตเจ็ทยังได้เสนอไฟล์ทบินฟรีเป็นระยะเวลา 1 ปีแก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงสมาชิกของคณะกรรมการควบคุม COVID-19 และแพทย์ พยาบาลที่ได้รับการแต่งตั้ง 160 ราย ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในไทย นอกจากนี้ สายการบินดังกล่าว ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ซึ่งมาจากกิจการร่วมค้าระหว่างเวียตเจ็ท (ถือหุ้น 49%) และกานต์ แอร์ถือหุ้นส่วนที่เหลือ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/738138/thai-vietjet-resumes-domestic-flights.html

เวียดนามเผยยอดส่งออกปลาสวายไปยังยุโรปดิ่งลงฮวบ เหตุโควิด-19

จากรายงานของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่ากลางเดือนพ.ค. การส่งออกปลาสวาย (Pangasius) ของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป มีมูลค่า 53.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลก รวมถึงสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกปลาสวายของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ราคาปลาสวายที่ขายเพื่อเป็นวัตถุดิบปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับจีนที่ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ที่มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยข้างต้น ภาคการประมงเร่งส่งเสริมสร้างความเข็มแข็งในการควบคุมสภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและคุณภาพของการผลิต ช่วยให้เกษตรกรและธุรกิจเข้าร่วมการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/tra-fish-exports-to-eu-see-a-sharp-fall-due-to-covid19-414903.vov

เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นถึง 300% ในช่วง 5 เดือนแรก

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงสิ้นเดือนพ.ค. ปริมาณนำเข้าเนื้อสุกรของเวียดนามถึง 67,640 ตัน เพิ่มขึ้น 298% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนธุรกิจในประเทศราว 130 รายทำการสั่งซื้อเนื้อสุกรและสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากแคนาดา เยอรมัน โปรแลนด์ บราซิล สหรัฐฯ สเปนและรัสเซีย ซึ่งการนำเข้าดังกล่าว เผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน เนื่องจากอุปทานทั่วโลกลดลงและการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาที่รุนแรงในหลายประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนม.ค. ปริมาณสุกรอยู่ที่ 678 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทางกระทรวงฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเจรจากับกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อนำเข้าสุกรมีชีวิต นอกจากนี้ หน่วยงานการโรคระบาดสัตว์ของเวียดนามและไทย เร่งหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตในการนำเข้าสุกรจากไทย

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/pork-imports-rise-nearly-300-in-five-months-414784.vov

เวียดนามนำเข้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พุ่ง 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากตัวเลขทางสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ชี้ให้เห็นว่าการนำเข้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ด้วยมูลค่า 21.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตในประเทศ อยู่ที่ราว 86.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 88.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวม ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีการนำเข้าสินค้าหลายรายการที่ลดลง ได้แก่ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ผ้าทุกชนิด เหล็กเหล็กกล้า วัตถุดิบพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรก มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 97.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน จีนยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่า 28.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียน ตามลำดับ นอกจากนี้ หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทรวงวางแผนและการลงทุนเตรียมพิจารณา 2 สถานการณ์ถึงผลกระทบทางด้านการค้าของประเทศ ในกรณีที่ไวรัสระบาดจนถึงไตรมาสที่สอง คาดว่ายอดส่งออกลดลง 20% ในขณะเดียวกันยอดการนำเข้าลดลง 16%

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-imports-of-computers-electronic-products-and-components-exceed-usd-21-billion-21285.html

ทางด่วนเวียงจันทน์ – วังเวียงแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 70

การก่อสร้างทางด่วนระยะทาง 113.50 กม. เชื่อมระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์และวังเวียงแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 70 และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้โดยโครงการจะก่อสร้างถนนรอดอุโมงค์คู่มีความยาวเกือบ 900 เมตรผ่านภูเขาซึ่งจะทำให้เส้นทางสั้นลง 43 กม. เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ถนนหมายเลข 13 ทางทิศเหนือ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนภายใต้สัญญาสัมปทาน 50 ปีโดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลลาวถือหุ้นร้อยละ 5 ในโครงการ การลงทุนดังกล่าวจะทำให้เกิดเส้นทางใหม่ที่เดินทางสะดวกสบายมากขึ้นส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งวังเวียงและเวียงจันทร์มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายการมีเส้นทางพิเศษจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวมากขึ้น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Vientiane_Vangvieng_112.php