รัฐบาล สปป.ลาว สั่งทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง

รัฐบาล สปป.ลาว เรียกร้องให้หน่วยงานกลางและระดับท้องถิ่นเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์และมาตรการทางเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ท่ามกลางความกังวลที่เกิดจากความวุ่นวายทั่วโลกและแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แนวทางหลักที่ต้องปฏิบัติคือลดการพึ่งพาการนำเข้าและเพิ่มการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เนื่องจากการพึ่งพาสินค้านำเข้าในสัดส่วนที่มาก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศขยายตัว จนอัตราเงินเฟ้อมีระดับที่สูงในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_99_govt_y24.php

การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกปี 2024 หดตัว 1.5%YoY คาดทั้งปียังโตต่ำ 0.6%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกปี 2024 หดตัว 1.5%YoY คาดทั้งปียังโตต่ำ 0.6%

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งปี 2024 การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่ำที่ 6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9.86 แสนล้านบาท แม้มีแรงหนุนจากการฟื้นตัวในตลาดหลัก
  • ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก 2024 จากผลของฐานสูงที่ทยอยลดลง การส่งออกไปเมียนมากลับมาดีขึ้นจากการเปิดด่าน การส่งออกทุเรียนไปจีน ได้อานิสงส์จากราคาที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง HDDs กับยางพารายังดีได้ต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/BorderTrade-CIS3498-FB-27-05-2024.aspx

AMRO คาด GDP กัมพูชาโต หนุนโดยการส่งออกและการท่องเที่ยว

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2024 โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปี 2024 และร้อยละ 5.9 ในปี 2025 กล่าวโดย Jinho Choi นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงาน AMRO อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภายนอกและจุดอ่อนภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวและคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวลดลง ขณะที่การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2024 โดยแรงขับเคลื่อนมากจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกัน ภาคการผลิตนอกเหนือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ คาดว่าจะรักษาโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มั่นคง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501494147/amro-forecasts-rosier-growth-for-cambodia-in-2024/

กรมสรรพากรกัมพูชา รายงานการจัดเก็บภาษีไตรมาส 1 ลดลง

กรมสรรพากร (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษี ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2024 ที่มูลค่ารวม 1.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดการจัดเก็บภาษี 1.34 พันล้านดอลลาร์ สำหรับกัมพูชามีหน่วยงาน 2 แห่ง ที่รับผิดชอบการจัดเก็บภาษี หน่วยงานแรกคือ กรมสรรพากร (GDT) ซึ่งมุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีเงินเดือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีที่ดิน อีกหน่วยงานคือกรมศุลกากร (GDCE) ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออก โดยการจัดเก็บภาษีในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของเป้าหมายการจัดเก็บภาษีที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2024 ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้จัดเตรียมมาตรการกระตุ้นการจัดเก็บภาษีสำหรับภาคการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และภาคการเกษตร เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501493907/gdt-tax-collection-falls-in-q1/

DITP ชี้ตลาดฮาลาลบูม พร้อมแสดงศักยภาพ ยกระดับฮาลาลไทย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จัด Thai Halal Pavilion เปิดโอกาสทางธุรกิจ สร้างโอกาสทางการค้า แสดงศักยภาพอาหารฮาลาลไทย ผสานนวัตกรรม ก้าวสู่ตลาดโลก ดัน Soft Power อาหารไทย ใน THAIFEX-Anuga Asia 2024 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) 6,246.13 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล เป็นอันดับที่ 11 ของโลก อย่างไรก็ตาม อาหารฮาลาลของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้น จากจุดแข็งด้านคุณภาพ วัตถุดิบที่มีความหลากหลาย มีมาตรฐาน รสชาติดี เป็นที่นิยม และมีชื่อเสียงในตลาดโลก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้อาหารฮาลาลไทยขยายออกไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น และได้กำหนดให้จัด Thai Halal Pavilion ขึ้นเพื่อแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลแบบครบวงจร สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาลที่สำคัญ ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 งานจัดแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในเอเชีย ซึ่งปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ารวมกว่า 3,000 บริษัท มากกว่า 6,000 คูหา จาก 50 ประเทศ ในปัจจุบันอาหารฮาลาลไทย ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมมีการขยายตัวสูง ประกอบกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่มิใช่มุสลิมก็ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารปลอดภัย และมีความเชื่อมั่นในอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพตามหลักการศาสนาบัญญัติอิสลาม

ที่มา : https://www.matichon.co.th/publicize/news_4596050