แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยเป็นบวก ภายหลังการยกเว้นวีซ่าร่วมกับจีนมีผลบังคับใช้
หนึ่งเดือนแรกนับตั้งแต่ข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างไทยและจีนมีผลใช้บังคับ นายวิชัย มงคลชัยชวัน รองประธานหอการค้าไทย-จีน มองว่าแนวโน้มเป็นบวก ในช่วงที่นำไปสู่การเริ่มต้นโครงการ “จำนวนการค้นหาการท่องเที่ยวประเทศไทยบนเว็บไซต์ Baidu ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 48%” การค้นหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้ในกวางตุ้ง เจ้อเจียง หูหนาน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม ประธาน TCJA กล่าวว่า สายการบินและโรงแรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยยังคงต้องรับมือกับการฟื้นตัวหลังโควิด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวจีนไว้ที่ 8 ล้านคนในปีนี้ ทั้งนี้ ข้อตกลงกับประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยแบบธรรมดา หนังสือเดินทางจีนเพื่อกิจการสาธารณะ และหนังสือเดินทางจีนแบบธรรมดาสามารถเดินทางได้ 30 วัน และยังอนุญาตให้เข้าออกประเทศได้หลายครั้ง แต่การเข้าพักสะสมต้องไม่เกิน 90 วันในช่วง 180 วัน
‘เวียดนาม’ เผยไตรมาสแรกปี 67 เห็นสัญญาณเชิงบวกส่งออกดีขึ้น
นาย จั่น ทัน หฮาย (Tran Thanh Hai) รองผู้อำนวยการหน่วยงานการค้าต่างประเทศของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่ายอดการส่งออกและนำเข้าในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่า 178.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) การส่งออก 93.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17%YoY และการนำเข้า 84.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.9%YoY ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 8.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ คุณ Bui Huy Son หัวหน้าฝ่ายวางแผนการเงินของกระทรวงฯ กล่าวว่ากิจกรรมการค้าของเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา ยังคงเผชิญกับความท้าทายและโอกาสอีกมากมายในปีนี้
นอกจากนี้ ผลประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และอุปสงค์ตลาดโลก โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกาที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงในช่วงปลายปี 2566 และมีแนวโน้มเข้าใกล้ระดับที่ธนาคารกลางตั้งเป้าไว้ในปี 2567
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-seeing-positive-export-signs-in-q1/283806.vnp
‘เวียดนาม’ เผยความเชื่อมั่นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีมุมมองเชิงบวก
จากผลการสำรวจของบริษัท Vietnam Report Joint Stock Company เปิดเผยว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ 52.5% มีมุมมองเชิงบวกในปีนี้ รองลงมา 36.9% มองว่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2566 และ 10.5% แย่ลงในปีนี้ ถึงแม้ว่าภาพรวมของตลาดรับเหมาก่อสร้างจะไม่โดดเด่นหรือแสดงศักยภาพไม่มากนักในปี 2567 แต่องค์กรของภาคธุรกิจต่างๆ หวังว่าในปีนี้จะเป็นก้าวแรกของอนาคตที่ดีในการวางรากฐานและการฟื้นตัวครั้งใหม่
ทั้งนี้ คุณหวู ดัง วิง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Vietnam Report กล่าวว่าองค์กรต่างๆ เชื่อมั่นว่าธุรกิจของตนเองจะได้รับการสนับสนุนจากความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ตลาดมีความสมดุลและอนาคตของตลาดอสังหาฯ ที่มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น โดยปัญหาคอขวดทางกฎหมายจะได้รับการแก้ไขและความเชื่อมั่นของตลาดจะดีขึ้น
นอกจากนี้ โครงการลงทุนจากต่างชาติที่มีการเบิกจ่ายเงินทุน ม.ค.-ก.พ. มูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีให้กับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-business-sentiment-in-construction-positive-in-2024/283807.vnp
ท่าเรือย่างกุ้งคาดการณ์ว่าจะมีเรือคอนเทนเนอร์ 50 ลำเทียบท่าในเดือนเมษายน
การท่าเรือเมียนมาได้ประกาศว่ามีเรือคอนเทนเนอร์จำนวน 50 ลำที่จะเข้าสู่ท่าเรือย่างกุ้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย เรือคอนเทนเนอร์ 7 ลำที่ดำเนินการโดย Maersk A/S Line, 6 ลำที่ดำเนินการโดย Samudera Shipping Line, 5 ลำที่ดำเนินการโดย Cosco Shipping Line, สายละ 4 ลำที่ดำเนินการโดย CMA CGM Line, MSC Line, SITC Shipping Line และ Ti2 Container Line, สายละ 3 ลำที่ดำเนินการโดย BLPL Shipping Line, Evergreen Lineและสาย RCL, สายละ 2 ลำที่ดำเนินการโดย ONE Line และ PIL และสายละ 1 ลำที่ดำเนินการโดย Bay Line และ IAL Shipping Line และLand and Sea ซึ่งมีกำหนดจะเรียกที่ท่าเรือย่างกุ้งในเดือนเมษายน อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้การท่าเรือเมียนมาระบุว่ามีเรือคอนเทรนเนอร์เข้าเทียบท่า 49 ลำในเดือนมกราคม 53 ลำในเดือนกุมภาพันธ์ และ 55 ลำในเดือนมีนาคม ตามลำดับ
ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/yangon-port-expects-50-container-vessels-in-april/
สินเชื่อสำหรับ MSMEs ที่ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม
ตามการระบุของหน่วยงานพัฒนา MSME ในระดับภูมิภาคของเมียนมา ธุรกิจ MSME ทั้งหมด 8 ประเภท ซึ่งรวมถึง บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค รัฐ และเขตสภาเนปิดอว์ จะได้รับเงินกู้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 20 (ค) ของกฎหมายการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลได้จัดสรรเงินกู้ผ่านกองทุนพัฒนา MSME ทำให้ธุรกิจ MSME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยจำนวนเงินกู้สูงสุดสำหรับธุรกิจถูกกำหนดไว้ที่ 10 ล้านจ๊าด สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก, 50 ล้านจ๊าด สำหรับธุรกิจขนาดย่อม และ 100 ล้านจ๊าด สำหรับธุรกิจขนาดกลาง อย่างไรก็ดี Myanma Economic Bank จะเริ่มให้กู้ยืมเพื่อความสะดวกของผู้ขอสินเชื่อ โดยมีการเตรียมการให้ธนาคารเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมในกระบวนการให้กู้ยืม
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ให้เงินกู้แก่ สปป.ลาว เพื่อส่งเสริมบริการด้านสุขภาพ
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยปรับปรุงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพในพื้นที่ชายแดนของประเทศลาว โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ และบุคลากรในโรงพยาบาลประจำแขวงจำปาศักดิ์ สะหวันนะเขต และพงสาลี จากข้อมูลของ ADB ความร่วมมือระดับภูมิภาคและการบูรณาการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อำนวยความสะดวกในการอพยพและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของประชากรยังก่อให้เกิดความท้าทายด้านสุขภาพ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุดในพื้นที่ชายแดน โครงการนี้จะช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของ สปป.ลาว สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติและประชากรในพื้นที่ชายแดนได้ดีขึ้น
ที่มา : https://english.news.cn/20240401/739b8e0906a945b2b04fdf8391aff0b6/c.html