รัฐบาล สปป.ลาว ไฟเขียวโครงการพลังงานลม 1,200 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ลงนามในข้อตกลงการพัฒนาโครงการพลังงานลม PDA กับบริษัท Savan Vayu Renewable Energy Co., Ltd. (SVARE) โดยเป็นโครงการพลังงานลมขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เมืองเซปอน แขวงสะหวันนะเขต ถือเป็นการพัฒนาพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ในปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาค โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จครั้งสำคัญของ สปป.ลาว ในการนำพาประเทศสู่การผลิตและใช้พลังงานสะอาดและการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่สนับสนุนความต้องการพลังงานภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างสถานะของลาวในฐานะผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือได้ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไฟฟ้าไปยังเวียดนาม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงและความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค ทั้งนี้ คาดว่าโครงการพลังงานลมนี้จะเปิดดำเนินการได้ภายในต้นปี 2569 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของลาวอย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนเป้าหมายในการบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2573

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/02/16/lao-government-green-lights-largest-wind-power-project-to-date/

สถานเอกอัครราชทูตไทยประกาศแผนดำเนินการวีซ่าใหม่ เริ่ม 21 กุมภาพันธ์นี้

สถานทูตไทยในย่างกุ้ง ประกาศเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ว่า มีการให้บริการผู้สมัครวีซ่ากว่า 400 รายต่อวัน โดยรูปแบบการให้บริการปัจจุบันจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะมีการปรับให้บริการรูปแบบใหม่ สถานทูตได้ประกาศว่าจะดำเนินการให้กับผู้สมัครเพียง 400 คนต่อวัน โดยจัดให้มีระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (โทเค็น) เนื่องจากมีผู้มาสมัครวีซ่าอย่างท่วมท้น ทั้งนี้ในประกาศระบุว่าระบบจะเริ่มในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ และโทเค็นจะพร้อมใช้งานในวันที่ 16, 19, 20 และ 21 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม สถานทูตจะออกหมายเลขโทเค็นสำหรับผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. ผู้รับผิดชอบจะออกโทเค็นหลังจากตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้สมัครอย่างละเอียดถี่ถ้วนและยืนยันความถูกต้องแล้วเท่านั้น โดยโทเค็นเหล่านั้นไม่สามารถโอนไปยังบุคคลอื่นได้ และหมายเลขโทเค็นแต่ละหมายเลขสามารถใช้ได้สำหรับหนึ่งคนเท่านั้น ซึ่งหากมีการปลอมแปลงหรือใช้หมายเลขโทเค็นในทางที่ผิดจะส่งผลให้คำร้องขอวีซ่าถูกปฏิเสธ และผู้สมัครจะถูกเพิกถอน นอกจากนี้ ตามการระบุของสถานทูตผู้ที่ถือหนังสือเดินทางพลเมืองเมียนมาจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยได้ 14 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thai-embassy-to-announce-new-visa-processing-scheme-starting-21-feb/

โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ และโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในตะนินทยี

อู ซอ มิน อู เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการระบุว่า บริษัทเอกชนกำลังดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในเมือง Kyunsu เขตตะนาวศรี ทั้งนี้ โครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3.77 เมกะวัตต์ที่เขื่อน Pahtaw ในหมู่บ้าน Pahtaw ในเมือง Kyunsu กำลังดำเนินการร่วมกันโดยบริษัท Pyae Phyo Tun International และบริษัท Myanmar Solar Power Trading Company โดยจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 6,384 แผงบนพื้นที่เจ็ดเอเคอร์ของผิวน้ำภายในเขื่อน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังห้องเย็น สถานที่ทำงาน โรงงาน และที่พักอาศัยบนเกาะพะแทวพะเท็ด เมืองมะริด อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำอีกแห่งในหมู่บ้านพะเท็ด คาดว่าจะป้อนให้กับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มที่สามารถผลิตน้ำมันได้ 60 ตันต่อวัน ซึ่งขณะนี้โรงกลั่นดังกล่าวยังไม่ได้เปิดใช้บริการ นอกจากนี้ น้ำมันปาล์มดิบ 800 ตันที่ผลิตได้ในพื้นที่ 8,000 จาก 15,000 เอเคอร์ในมอตอง จะถูกส่งออกไปยังย่างกุ้งผ่านทางท่าเทียบเรือมะริด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/taninthayi-welcomes-private-investment-in-floating-solar-power-plant-palm-oil-refinery/

Chevron พร้อมขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา

บริษัท Chevron ซึ่งมีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา ภายใต้ บริษัท Chevron (Cambodia) จำกัด โดยได้เปิดเผยแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมในกัมพูชา รวมถึงคำนึงถึงความพยายามของประเทศในการร่วมสำรวจแหล่งน้ำมันสำรองกับประเทศไทยในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ซึ่งพื้นที่ OCA ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะกักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดย Keo Ratanak รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา (MME) ภายหลังการประชุมกับ Frank Cassulo รองประธานใหญ่ บริษัท Chevron ในกรุงพนมเปญ ซึ่งบริษัทได้เริ่มเข้าลงทุนในกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2021 มีสถานีบริการในปัจจุบันรวม 53 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชาอีก 100 สถานี เพื่อรองรับกับอุปสงค์ภายในประเทศ ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาได้เปิดเผยว่ากัมพูชานำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมในปีก่อนมูลค่ารวมอยู่ที่ 849 ล้านดอลลาร์ และน้ำมันดีเซลอีกราว 1.32 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440827/chevron-to-expand-service-station-network-in-cambodia/

ปี 2023 อุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชาโต 3%

หน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยแห่งกัมพูชา (IRC) รายงานมูลค่าเบี้ยประกันภัยรวมภายในประเทศแตะ 342 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากมูลค่า 331.8 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันกัมพูชามีบริษัทประกันภัยทั่วไป 18 แห่ง บริษัทประกันชีวิต 15 แห่ง บริษัทประกันภัยรายย่อย 7 แห่ง และบริษัทประกันภัยต่อ 1 แห่ง ที่มีการขยายตัวในภายรวม สำหรับมูลค่าการเคลมประกันในปีก่อนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 60.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากมูลค่า 46.6 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า ด้านมูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชามีอยู่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501441065/cambodias-insurance-industry-grows-by-3-pct-in-2023/

รัฐบาลเพิ่มแต้มต่อสินค้าเกษตรไทยด้วย FTA ดันครองเบอร์ 1 ส่งออกในอาเซียน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้าทำการค้าเชิงรุก และผลักดันให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าหากเดินหน้าผลักดันความร่วมมือ FTA ให้เต็มศักยภาพจะเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนได้มหาศาล ถือเป็นโอกาสสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ไทยในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2023 โดยตลาดคู่ค้า FTA ที่มีการส่งออกขยายตัวทางการค้าสูง ได้แก่ จีน ซึ่งขยายตัว 11% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ตามมาด้วยตลาดอาเซียนที่ขยายตัว 5% ด้านสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าศักยภาพที่ขยายตัวได้ดีในการส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้า FTA อันดับ 1 ยังคงเป็น ข้าว ที่มีการขยายตัวมากถึง 92% ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/787985