คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx

ท่ามกลางการระบาด COVID-19 สปป.ลาวตรวจสอบการกักกันแรงงานที่เดินทางกลับประเทศอย่างเข้มงวด

รัฐบาลสปป.ลาวได้สั่งการให้ทางการท้องถิ่นเฝ้าระวังคนที่เข้ามาในสปป.ลาวอย่างระมัดระวังและกักกันคนงานที่กลับมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของCOVID-19 รองอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อภายใต้กระทรวงสาธารณสุขสปป.ลาว กล่าวว่าทางการท้องถิ่นต้องตรวจสอบพรมแดนอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานสปป.ลาวที่เดินทางกลับจากประเทศเพื่อนบ้าน  คนที่เข้ามาในสปป.ลาวโดยเฉพาะแรงงานที่ส่งกลับประเทศจะถูกส่งไปยังศูนย์กักกันเป็นเวลา 14 วัน ทุกคนในศูนย์กักกันต้องได้รับการตรวจสอบอุณหภูมิทุกวัน ซึ่งในวันจันทร์ที่ผ่านมามีผู้เดินทางเข้าสปป.ลาวผ่านด่านพรมแดนระหว่างประเทศจำนวน 2,600 คน ในจำนวนนี้ 1,281 คนข้ามพรมแดนมาจากประเทศไทย จากประเทศจีนทั้งหมด 41 คน ขณะที่ 1,119 คนเดินมาจากเวียดนามและ 159 คนเดินโดยใช้ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต ที่จุดผ่านแดนทุกแห่งมีการตรวจสอบอุณหภูมิของแต่ละคนที่เข้ามาและไม่มีใครแสดงอาการไข้ และขณะนี้กำลังติดตามผู้คน 2,588 คนที่ศูนย์ที่พัก 33 แห่งทั่วประเทศ และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้ทดสอบผู้ป่วยที่ต้องสงสัย 104,212 ราย โดย 44 รายได้รับการตรวจเป็นบวกและผู้ป่วย 41 รายฟื้นตัวจากการติดเชื้อ

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/02/c_139716545.htm

เวิลด์แบงก์เตือนรัฐประหารเมียนมากระทบพัฒนาประเทศ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หลังจากกองทัพได้ก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาล โดยเวิลด์แบงก์เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในเมียนมามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย และจะสร้างความเสียหายต่อแนวโน้มการพัฒนาประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในเมียนมา ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์และบรรดาพันธมิตร เราได้รับผลกระทบจากการถูกปิดช่องทางการสื่อสารทั้งภายในเมียนมาและกับต่างประเทศ ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวานนี้ พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกองทัพได้มอบอำนาจการปกครองให้กับนายพลมิน อ่อง หล่าย ขณะที่สัญญาว่าจะจัดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้น นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเมียนมา จะลดลงเพียง 0.5% ในปีงบประมาณ 2562/2563 จากระดับ 0.68% ของปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวรุนแรงถึง 2.5% หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/920433