นายกฯ ฮุน มาเน็ต โปรโมทโครงการ ‘Visit Siem Reap 2024’ หนุนการท่องเที่ยวกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ประกาศโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘Visit Siem Reap 2024’ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยนายกฯ ได้ประกาศไว้ในระหว่างการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมภาครัฐ-เอกชน (G-PSF) ครั้งที่ 19 ซึ่งการออกมาโปรโมทในครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในพื้นที่จังหวัดเสียมราฐ ด้วยการที่จังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ขณะที่นายกฯ ยังได้วางแผนที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยการให้ธนาคารและสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวและนักลงทุนในภาคการบริการ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการจัดสรรเงินทุนให้กับภาคดังกล่าวไปแล้วกว่า 50 ล้านดอลลาร์ ในการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501391623/pm-announces-visit-siem-reap-2024-initiative/

‘เวียดนาม’ พัฒนาทางการเงินร่วมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

นาย โฮ ดึก ฟอก (Ho Duc Phoc) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเวียดนาม ได้หารือกับนายจิม ชาลเมอร์ส เหรัญญิกของออสเตรเลีย รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนที่ 2 ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เนื่องการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยการหารือกับออสเตรเลียเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียจนถึงปี 2040 และความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเงินที่ยั่งยืน ตลอดจนบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการคลังเวียดนามและออสเตรเลีย

ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ได้รับคำแนะนำให้ดำเนินตามกรอบความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ฉบับใหม่ที่ตกลงกันระหว่างการเยือนญี่ปุ่นของนายกฯ รัฐมนตรีเวียดนาม เมื่อเดือน พ.ค.65 นอกจากนี้ รัฐมนตรีของสิงคโปร์กล่าวชื่นชมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่มุ่งไปทึ่ความร่วมมือทางการเงิน ศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการตลาดหลักทรัพย์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-advances-financial-cooperation-with-australia-japan-singapore/271201.vnp

‘เวียดนาม’ ส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทำสถิติสูงสุด เดือน ต.ค.

กรมนำเข้า-ส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในเดือน ต.ค. ปริมาณ 64,320 ตัน มูลค่ากว่า 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.7% และ 37.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปริมาณ 516,870 ตัน มูลค่า 2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.8% และ 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาส่งออกเฉลี่ยของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ อยู่ที่ 5,073 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลง 4.8%

นอกจากนี้ คนในอุตสาหกรรม กล่าวว่าการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของเวียดนามในช่วงสองเดือนที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดที่กำลังจะมาถึง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-cashew-exports-reach-record-high-in-october-post1059047.vov

สปป.ลาว เดินหน้าโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าเฟสที่ 1

สปป.ลาว เปิดเดินเครื่องกังหันลมผลิตไฟฟ้าเครื่องแรกของโครงการพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่เมืองเซกอง ทางตอนใต้ของลาว โดยฟาร์มกังหันลมจะประกอบด้วยกังหัน 133 ตัว บนพื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ ครอบคลุม 25 หมู่บ้าน ทั้งนี้ กังหันจำนวน 110 ตัว จะถูกติดตั้งในเขต Dakcheung และอีก 23 ตัวในเขต Sanxay โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับเวียดนามเป็นระยะเวลาตามสัญญา 25 ปี ณัฐ หุตะนุวัตร กรรมการผู้จัดการบริษัท มอนซูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ กล่าวว่า ‘กังหันแต่ละตัวจะตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีความกว้างประมาณ 22 เมตร และลึก 35 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 171 เมตร ปัจจุบันโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 30% และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จ 100% และเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2568’ ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนี้ มีกำลังการผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดเซกองและจังหวัดอัตตะปือ และคาดว่าจะส่งออกและจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านประเทศเวียดนาม หลังจากเสร็จสิ้นจะเป็นโครงการพลังงานลมแห่งแรกของลาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นโครงการพลังงานใหม่ข้ามพรมแดนแห่งแรกในเอเชีย ตามข้อมูลของบริษัท Monsoon Wind Power

ที่มา : https://english.news.cn/20231114/12acdcb068014df6a108a67ec7f753a2/c.html

จีนยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว

นายคำเจน วงศ์โพธิ์สี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว และนักธุรกิจชาวจีน ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยได้กล่าวในที่ประชุมว่า ‘นักลงทุนชาวจีนมีส่วนร่วมในโครงการมากกว่า 900 โครงการในภาคส่วนต่างๆ ของลาว มูลค่ารวมกว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้จีนเป็นผู้นำในด้านมูลค่าการลงทุนในลาวอีกครั้งหนึ่ง กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน’ เฉพาะในปี 2565 เพียงปีเดียว การลงทุนของจีนได้ถูกกระจายไปยังบริษัท 30 แห่งทั่วประเทศลาว ซึ่งมีมูลค่าสะสม 339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนเหล่านี้ครอบคลุมภาคส่วนที่หลากหลาย รวมถึงเหมืองแร่ พลังงาน บริการให้คำปรึกษา อุตสาหกรรมและงานฝีมือ และการสาธารณสุข และอื่นๆ ตามที่รายงานโดยสื่อของรัฐเวียงจันทน์ใหม่

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/11/14/china-remains-top-investor-in-laos-minister-reveals/

การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ สร้างรายได้ 3 พันล้านดอลลาร์ใน 7 เดือน

ในช่วงเจ็ดเดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคม) ของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 มูลค่าการค้าชายแดนของเมียนมาร์กับประเทศไทยมีมูลค่า 3.034 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนดังกล่าวลดลงจากเดิม 3.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าลดลงอย่างมากที่ 125.558 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เมียนมาร์ดำเนินการค้าข้ามพรมแดนกับไทยผ่านทางด่านท่าขี้เหล็ก เมียวดี เกาะสอง มะริด ทิกิ และมอต่อง ซึ่งด่านชายแดนทิกิ เป็นด่านที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดอยู่ที่ 1,889 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ที่ชายแดนเมียวดีมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 882.303 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ท่าขี้เหล็ก 94.397 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มะริด 68.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เกาะสอง 89.226 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่มอต่อง 10.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ดำเนินการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านจีน ไทย บังคลาเทศ และอินเดีย โดยมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ การประมง แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ในขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า CMP

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-border-trade-earns-us3-bln-in-7-months/

รถไฟจีน-ลาว เริ่มให้บริการนักท่องเที่ยวจาก ‘กรุงปักกิ่ง-นครหลวงเวียงจันทน์’

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รถไฟจีน-ลาว ได้เริ่มเปิดให้บริการรถไฟท่องเที่ยวข้ามพรมแดนจากกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีป้ายจอดหลายสถานีตั้งแต่เมืองหลวงพระบางและวังเวียง ขากลับจะผ่านสถานที่ท่องเที่ยวของจีน เช่น สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และเมืองจิบิ มณฑลหูเป่ย รวมเวลาไป-กลับ 15 วัน ทั้งนี้ รถไฟสายนี้ได้ขนส่งสินค้าแล้วกว่า 9.62 ล้านตัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 94.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีปริมาณสินค้าข้ามพรมแดนมากกว่าสามเท่าอยู่ที่ 2.3 ล้านตัน (ไชน่านิวส์รายงาน) สินค้าหลักที่บรรทุกบนทางรถไฟสายนี้ ได้แก่ ผลไม้ แป้งมัน ข้าวบาร์เลย์ ยางพารา เบียร์ แร่เหล็ก และปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ นับตั้งแต่เริ่มให้บริการรถไฟจีน-ลาวได้ขนส่งผู้โดยสารไปแล้วกว่า 3 ล้านคน เฉพาะแปดเดือนกว่าของปี 2566 ขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 1,759,900 คน

ที่มา : https://news.cgtn.com/news/2023-11-13/Tourism-train-service-from-Beijing-to-Vientiane-begins-1oH7tCQQNUc/index.html?fbclid=IwAR0g6s1-g2ck3bAU4kcP3n4ZFSA8Dde0soivCj5FalcSAcAlh7_XT23rl-s