เมียนมา จีน ตัดสินใจเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง

พลโท Yar Pyae สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมียนมา จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกสภาบริหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนาย Wang Xiaohong รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง ในเมืองเนปิดอว์ เมื่อ 30 ตุลาคม 2566 นอกจากนี้ พวกเขายังได้จัดการประชุมรัฐมนตรีเมียนมา-จีน ครั้งที่ 7 ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยในการประชุม ได้มีการหารือเกี่ยวกับสันติภาพและความสงบในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง การเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านความมั่นคงสาธารณะระดับโลก (เหลียนหยุนกัง) และการประชุมสถาบันตำรวจจีน-อาเซียน การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีว่าด้วยความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (พ.ศ. 2566-2570) การดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ การฉ้อโกงออนไลน์ อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ การฟอกเงิน การพนันข้ามพรมแดน คดียาเสพติด ความร่วมมือในกิจกรรมด้านความปลอดภัยล้านช้าง-แม่น้ำโขง และกิจกรรมบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ดี ยังได้หารือความสัมพันธ์ทวิภาคีในการจับกุมผู้ลี้ภัยชาวจีน การสื่อสารระหว่างองค์กร การวิจัยร่วมด้านอาชญากรรมบริเวณชายแดน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ระหว่างทั้งสองกระทรวง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-decide-to-strengthen-promotion-of-law-enforcement-security-cooperation/#article-title

เมียนมาส่งออกยางพารากว่า 76,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือน

จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ยางพารามากกว่า 76,594 ตันถูกส่งออกไปยังต่างประเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน-สิงหาคม) ของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 โดยมีมูลค่าประมาณ 94.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การผลิตยางพาราของเมียนมาจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตันต่อปี โดยที่ยางพาราส่วนใหญ่ของเมียนมาถูกผลิตในรัฐมอญ และกะเหรี่ยง รวมถึงภูมิภาคตะนาวศรี พะโค และย่างกุ้ง ทั้งนี้ จากข้อมูลฤดูกาลยางพาราปี 2561-2562 เมียนมามีพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 1.628 ล้านเอเคอร์ โดยรัฐมอญมีพื้นที่ 497,153 เอเคอร์ รองลงมาคือเขตตะนาวศรี 348,344 เอเคอร์ และรัฐกะเหรี่ยง 270,760 เอเคอร์ จากการส่งออกยางพาราในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้มากกว่า 449 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีรายได้กว่า 264.442 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่ผ่านมา เมียนมามีการผลิตยางพาราจำนวนมากกว่า 360,000 ตัน โดยกว่า 200,000 ตัน ถูกส่งออกไปยังคู่ค้าต่างประเทศ ยางพาราร้อยละ 70 ที่ผลิตในเมียนมาถูกส่งออกไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ ยังส่งออกไปยัง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกด้วย จากข้อมูลของสมาคม ความต้องการยางพาราในตลาดโลก ปริมาณการผลิตยางพาราในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอุปทานในตลาด นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคายางพาราของเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-76000-tonnes-of-rubber-worth-us94-mln-in-5-months/#article-title

‘นายกฯ ไทย-สปป.ลาว’ ร่วมพิธีเปิดสถานีรถไฟเชื่อมเวียงจันทน์-หนองคาย

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ร่วมพิธีเปิดสถานีรถไฟคำสะวาท ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างเมืองหลวงของลาวกับจังหวัดหนองคายของไทย สถานีรถไฟดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้โครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว-ไทย ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ในหมู่บ้านคำสะวาท นครหลวงเวียงจันทน์ โดยการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเริ่มจากสถานีท่านาเล้ง ซึ่งอยู่ห่างจากนครเวียงจันทน์ไปทางตะวันออกประมาณ 20 กม. และห่างจากชายแดนลาว-ไทย ริมแม่น้ำโขงไปทางเหนือ 4 กม. พร้อมทั้งสร้างถนนทางเข้าไปยังสถานีรถไฟคำสะวาทในระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม สปป.ลาว ได้กล่าวขอบคุณสำหรับการสนับสนุนเงินทุนโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว-ไทย ระยะที่ 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลไทยผ่านทางสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA)

ที่มา : https://english.news.cn/20231030/9c87d6967a994892a36a4a93e5706cfd/c.html

สปป.ลาว-เกาหลีใต้ ร่วมมือลดความซับซ้อนการโอนเงินข้ามพรมแดน

สปป.ลาวและเกาหลีใต้ ผนึกกำลังในโครงการนำร่องเพื่ออำนวยความสะดวกกระบวนการโอนเงินข้ามพรมแดนสำหรับคนงานลาวในต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวในลาว เนื่องจากแรงงานชาวลาวในต่างประเทศมักเผชิญกับอุปสรรคในการโอนเงินข้ามพรมแดน รวมถึงปัญหาการเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ ขั้นตอนเอกสารการโอนเงินที่ซับซ้อน และต้นทุนการโอนเงินที่สูง ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ช่องทางการโอนเงินที่ผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงอยู่บ่อยครั้ง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้ทำการศึกษาเครื่องมือและช่องทางการชำระเงิน เพื่อสร้างระบบโอนเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับแรงงานชาวลาวส่งเงินกลับประเทศผ่านช่องทางของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศใน สปป.ลาว และบริษัท Global Loyalty Network Company (GLN) ของเกาหลีใต้ ได้สร้างแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัล โดยจะนำร่องใช้งานเริ่มต้นที่เป้าหมายแรก คือ เกาหลีใต้ และแผนในอนาคตคือการขยายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย และญี่ปุ่น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/31/laos-south-korea-partner-to-simplify-cross-border-money-transfers/

‘สปป.ลาว จะใช้มาตรการเข้มขึ้น’ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

พรรคปฏิวัติประชาชนลาว ได้มีมติในการดำเนินมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน​​กีบ ในระหว่างการประชุมสมัยที่ 7 คณะกรรมพรรคฯ เห็นพ้องเกี่ยวกับมาตรการที่ไม่เพียงแต่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ยังเพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมไปพร้อมกันด้วย โดยขอให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนรับมือกับไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นและทำงานหนักขึ้นเพื่อกระตุ้นการผลิตทางการเกษตร ลดการนำเข้าสินค้าที่สามารถปลูกหรือผลิตในประเทศได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้แนะนำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทและการลดความยากจนมากขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ สร้างงานมากขึ้น และบรรเทาปัญหาสังคม รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการอย่างละเอียดถี่ถ้วนสำหรับกิจกรรมสำคัญของประเทศในปีหน้า รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนและการรณรงค์การท่องเที่ยวในปี 2567

ที่มา : https://english.news.cn/20231030/9c87d6967a994892a36a4a93e5706cfd/c.html

สปป.ลาว-ไทย กระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมมิตรภาพเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ ซึ่งนำไปสู่การตระหนักถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศร่วมกัน เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างลาวกับไทยผ่านระบบถนนและทางรถไฟ ตลอดจนโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผ่านชุมชนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงให้คำมั่นที่จะส่งเสริมกลไกการประสานงานและความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาว กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดนไทย-ลาว และสนับสนุนระหว่างกันในเวทีระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-thailand-strengthen-strategic-partnership/270428.vnp