นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

Long Kosal รองผู้อำนวยการ APSARA National Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบในการจัดการ ปกป้อง และอนุรักษ์นครวัด กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้รับแรงผลักดันหลังจากกัมพูชาประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง รวมถึงรัฐบาลยังใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากข้อมูลของ Kosal ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด อุทยานโบราณคดีอังกอร์ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากถึง 2.2 ล้านคนในปี 2019 สร้างรายรับจากการขายตั๋วมูลค่ารวมกว่า 99 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ปัจจุบัน Sao En ผู้จำหน่ายของที่ระลึกในอุทยานฯ ได้พูดถึงสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนยังนครวัดค่อยๆ ฟื้นตัว ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 225,000 คน ซึ่งอุทยานโบราณคดีอังกอร์มีขนาด 401 ตร.กม. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ในปี 1992 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204363/foreign-tourists-gradually-return-to-famed-angkor-in-cambodia/

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาฟื้นตัวได้ดีในปีนี้

ธนาคารโลกคาดข้อตกลงการค้าเสรี ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตการเกษตรของกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะหนุ่นให้เศรษฐกิจของกัมพูชาฟื้นตัวได้ดีจากผลกระทบของโควิด-19 ภายในปี 2022 รวมถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และการเปิดพรมแดนเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 5.4 และจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า และคาดว่ารายได้ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,785 ดอลลาร์ ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,924 ดอลลาร์ ในปี 2023 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ในปี 2023 จากร้อยละ 5 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204073/cambodias-economy-recovers-well-in-2022-with-better-growth-forecast-for-next-year-despite-headwinds/

‘เวียดนาม’ เปิดฟอรั่มเศรษฐกิจ เร่งหาแนวทางรับความท้าทายในปี 2566

การประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจเวียดนาม (Vietnam Economic Forum) ครั้งที่ 5 จัดขึ้นวันที่ 17 ธ.ค. ณ กรุงฮานอย ภายใต้การศึกษาแนวทางการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การสร้างสมดุลและเผชิญกับความท้าทายในปีหน้า นายฝ่าม มิงห์ จิงห์  นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามข้อมูลทางสถิติชี้ให้เห็นว่าเวียดนามมีเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ จะขยายตัว 8% ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค ทั้งนี้ การประชุมเศรษฐกิจเวียดนามดังกล่าว เพื่อทำการหารือและปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจที่เผชิญ และศึกษาหาแนวทางในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเวียดนามและธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ มีจำนวนเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-economic-forum-examines-ways-to-deal-with-global-turbulence-in-2023-post990997.vov

7 เดือนของปีงบฯ 65-66 การค้าเมียนมา-จีน ทะลุ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมากับจีนผ่านการค้าทางทะเล ทะลุ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรก (เม.ย.-ต.ค.) ของปีงบประมาณ 2565-2566 โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 1.995 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 3.082 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างเมียนมากับจีน ในช่วงงบประมาณย่อยปี 2564-2565 อยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2563-2564 อยู่ที่ 9.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปีงบประมาณ 2562-2563 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญไปยังจีน ได้แก่ ข้าว ถั่วและพัลส์ ข้าวโพด ผักและผลไม้ สินค้าประมง ยาง พริก และสินค้าอาหารอื่น ๆ ส่วนการนำเข้าจากจีน ได้แก่ วัตถุดิบพลาสติก สินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-bilateral-trade-totals-over-us5-bln-in-seven-months/

ADB ปรับลดการเติบโต GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียนลง

เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยข้อมูล GDP ของประเทศในอาเซียนจะเติบโต 4.3% แต่ล่าสุดปรับลดลงเหลือ 4.2% นอกจากนี้ยังลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 จาก 4.9% ลดลงเหลือ 4.6% เนื่องจากการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนและภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อออกไป ทั้งนี้ ADB ยังได้ประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในสปป.ลาวจะอยู่ที่ประมาณ 23% ในปี 2565 และจะลดลงเหลือ 10% ในปี 2566

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/12/16/adb-lowers-gdp-growth-for-asia-in-latest-forecast/

สศช.เผยสูตรใหม่พบคนจนพุ่ง 8.1 ล้านคน

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้พบข้อมูลคนจนของประเทศไทย พบว่ามีหลากหลายมิติไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น เพื่อใช้วัดคนจนในมิติอื่นๆ โดยวัดผ่าน 4 มิติ คือ มิติด้านการศึกษา มิติการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ และมิติด้านการเงิน ซึ่งแต่ละมิติมีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ตัวชี้วัด รวมเป็น 12 ตัวชี้วัด ซึ่งหากใช้ตัวชี้วัดความยากจนหลายมิติเทียบกับความยากจนที่วัดผ่านเกณฑ์รายได้ ผลจากการใช้ดัชนีดังกล่าวพบว่า หากวัดคนจนที่อยู่ต่ำเส้นความยากจนหรือในฝั่งรายได้จะมีคนจนเพียง 4.4 ล้านคน แต่ถ้าเอาดัชนีความยากจนหลายมิติมาวัด พบว่า มีคนจนสูงถึง 8.1 ล้านคน ซึ่งมิติสำคัญที่พบมากสุดคือ ด้านความเป็นอยู่ มีสูงถึง 35% รองลงมากคือความมั่นคงด้านการเงิน 29% เป็นสัดส่วนที่ทำให้คนมีความยากจนมากสุด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2581096

ก.เกษตรฯ เวียดนาม ยืนยันเนื้อหมูไม่ขาดตลาดในช่วงเทศกาลเต็ด

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าจะไม่มีปัญหาจากการขาดแคลนเนื้อหมูตั้งแต่วันนี้จนถึงเทศกาลเต็ด (วันปีใหม่จันทรคติ) เนื่องจากผลผลิตมีจำนวนมากจากการที่ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ 16 ราย มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของผลผลิตเนื้อหมูทั้งประเทศที่สามารถจัดจำหน่ายไปสู่ตลาดได้ รวมถึงยังรักษาระดับผลผลิตได้ อย่างไรก็ดี ผลผลิตที่มีจำนวนมากดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อราคาสุกรมีชีวิตปรับตัวลดลงราว 60,000 ดองต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มองว่าความต้องการเนื้อหมูอาจเพิ่มขึ้นในช่วงใกล้เทศกาลเต็ด ซึ่งจะทำให้ราคาเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดการณ์ว่าจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเท่าไรนัก นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในหัวเมืองต่างๆ ให้ทำการติดตามตามสถานการณ์ของตลาดอย่างใกล้ชิด รวมถึงแนะนำเกษตรกรดูแลฝูงสัตว์อย่างเหมาะสมและหาแนวทางในการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อประกันกำไรของเกษตรกร

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1403545/no-shortage-of-pork-for-tet-holidays-ministry.html

‘เวียดนาม’ ทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ทะลุ 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) รายงานว่าเวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกและไข่ไปยังทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ที่ 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์กว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าผลผลิตในประเทศมีจำนวนมากก็ตาม ทั้งนี้ ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ภาคธุรกิจทำการแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกให้มีคุณภาพดีขึ้น จัดเก็บสำรองวัตถุดิบและสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารควรให้การสนับสนุนในด้านสินเชื่อแก่เกษตรกร และในระยะยาวนั้น กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องประเมินผลช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์จะไปยังมือผู้บริโภคและผู้เพาะพันธุ์สัตว์ รวมถึงพิจารณาจัดตั้งกองทุนรักษาเสียรภาพของราคาเนื้อสัตว์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-rakes-in-361-million-usd-from-exporting-poultry-products/245355.vnp

กัมพูชาส่งออกไปยังญี่ปุ่นโต 10% มูลค่าแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 1,658 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมกัมพูชานำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมูลค่า 433 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,081 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ขณะที่กัมพูชานำเข้าเครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200556/cambodias-export-to-japan-up-10-at-1-6b/

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเป็นตลาดหลักสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันทางการกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าตลาดจีนในปัจจุบันอยู่ที่มูลค่า 805 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด แต่หากนับเฉพาะสินค้าเกษตรตลาดจีนครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่า 281 ล้านดอลลาร์ ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมด 715 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับตลาดจีนเน้นไปที่การนำเข้า กล้วย ข้าวสาร และมันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญ นอกจากนี้ FDI ของจีนยังคงมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ FDI ที่ได้รับอนุมัติคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 4.0 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 260 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200944/cambodias-agricultural-commodities-target-china-as-a-key-export-destination/