ในช่วง 7 เดือนของปีงบ 65-66 เมียนมาโกยรายได้กว่า 10.733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกสินค้าไปบังกลาเทศ

การส่งออกของเมียนมามากกว่าการนำเข้าของการค้าชายแดนกับบังกลาเทศ พบว่าระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2565 ในปีงบประมาณ 2565-2566 มีการส่งออกสินค้าไปบังคลาเทศ 8,620.7 ตันอยู่ที่ประมาณ 10.733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกสินค้าประมงร้อยละ 65 และสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นร้อยละ 35 ผ่านชายแดนซิตเวย์และมองดอ ซึ่งสินค้าประมงที่ส่งออก ได้แก่ ปลายี่สกเทศ ปลาตะลุมพุกฮิลซา ปลาแมคเคอเรล ปลากะตักแห้ง และเนื้อปลาอบแห้ง ที่ผ่านมาสินค้าประมงที่ส่งออกไปบังคลาเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีมูลค่า 6.318 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7,093.413 ตัน) ปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่า 4.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5,010.7 ตัน) และปีงบประมาณย่อย 2564-2565 (เดือนตุลาคม 2564 -เดือนมีนาคม 2565) มีมูลค่า 13.987 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11,362.97 ตัน) ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เมียนมามีรายได้รวม 10.733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออก 8,620 ตันไปยังบังกลาเทศ และยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาติในการให้เรือของบังคลาเทศเข้าจอดเทียบท่าจำนวน 26 ลำ คิดเป็นมูลค่า 24,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-10-733-mln-from-exports-to-bangladesh-in-7-months/#article-title

‘เวียดนาม’ จัดฟอรั่มทางธุรกิจ M&A ประจำปี 2022 ปลายเดือนพ.ย.

งานเสวนา “M&A Vietnam Forum 2022” จัดโดยสื่อพิมพ์ Vietnam Investment Review เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายโอกาสใหม่” มุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสสำหรับการผนึกกำลังทางธุรกิจ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวน ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะคติทางธุรกิจและแสวงหาความร่วมมือ นอกจากนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นการควบรวมกิจการ (M&A) มีมูลค่าโดยรวม 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 35.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1352255/m-a-vietnam-forum-2022-slated-for-late-november.html

กัมพูชากำหนดกรอบนโยบายแห่งชาติ ประจำปี 2022-35 เพื่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาประกาศกรอบการดำเนินการตามกรอบนโยบายแห่งชาติประจำปี 2022-2035 เพื่อเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยเน้นไปที่การกระตุ้นภาคการลงทุนและสร้างแรงดึงดูดทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเร่งปรับปรุงผลิตภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน ภายใต้การจัดการบริหารความเสี่ยงของการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและความไม่แน่นอนด้านพลังงาน โดยในปัจจุบันอุปสงค์ภายนอกและเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ตามการรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 6.6 ที่มีมูลค่าจีดีพีรวมอยี่ท่ 32.29 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีต่อหัวคาดว่าจะอยู่ที่ 1,924 ดอลลาร์ โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 1,785 ดอลลาร์ ขณะที่ที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.14 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180684/national-policy-framework-for-economic-productivity-2022-35-unveiled/

COFCO Group ลงนาม MoU ซื้อวัตถุดิบอาหารกับหลายประเทศรวมถึงกัมพูชา

COFCO Group ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน (พิจารณาจากรายได้) ได้ลงนามในสัญญาซื้อมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ กับพันธมิตรต่างประเทศ ในช่วงระหว่างงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 5 ณ เซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทเน้นถึงการนำเข้าน้ำมันพืชสำหรับบริโภค น้ำตาล เนื้อสัตว์ แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นมจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และฝ้าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการแปรรูปอาหารในประเทศจีน ด้าน Luan Richeng ประธาน COFCO กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย กัมพูชา สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส คาซัคสถาน รัสเซีย และบราซิล เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180881/cofco-group-signs-large-purchase-contracts-with-multiple-foreign-partners-including-cambodia/

เมียนมา ขยายเวลาชำระคืนเงินกู้โควิด- 19 ออกไปอีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ประกาศขยายระยะเวลาชำระคืนกองทุนเงินกู้โควิด-19 ไปอีก 1 ปี หลังจากครบกำหนดชำระเป็นปีที่สอง โดยมีวงเงินของโครงการทั้งสิ้น 2 พันล้านจัต ซึ่งได้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทและวิสาหกิจทั่วประเทศแล้ว จำนวน 5,990 แห่ง เป็นจำนวนมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยกู้รวมทั้งสิ้น 158.4438 พันล้านจัต ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งและระยะเวลาเงินกู้หนึ่งปีตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ทั้งนี้มีภาคอุตสาหกรรมที่ได้เข้าร่วมขอสินเชื่อ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบ CMP, ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, เกษตรกรรม, การเลี้ยงปศุสัตว์และการผลิตภัณฑ์ทางทะเล เป็นต้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/covid-19-loan-repayment-period-extended-for-one-more-year/

เงินเฟ้อร่วง 2 เดือนติด ตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นแค่ 5.98%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.33% และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 5.98% ส่งผลให้ราคาสินค้าชะลอตัวลงจากที่เคยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และอัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) อยู่ที่ 6.15% สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565) คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องประเมินว่าไม่น่าจะถึง 6% หรือใกล้เคียง 6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และบางรายการราคาทรงตัว แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ต้องจับตาราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า จึงประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/690655

เดือนต.ค. 65 เงินเฟ้อสปป.ลาว พุ่งนิวไฮ! แตะ 36.75%

เดือนตุลาคม 2565 เงินเฟ้อสปป.ลาว แตะ 36.75% พุ่งสูงสุดในรอบปีนี้ โดยเพิ่มจาก 34.05% ในเดือนกันยายน 2565 และยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความลำบากให้กับประชาชนในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาขายปลีกวัสดุก่อสร้างในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาบางรายต้องหยุดโครงการก่อสร้างเป็นการชั่วคราวเพราะแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ซึ่งทางการของสปป.ลาว กำลังหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา โดยในการประชุมเต็มคณะครั้งล่าสุด วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะพิจารณาเพิ่มรายได้จากการส่งออกและดำเนินการชำระเงินผ่านระบบธนาคาร ตลอดจนเรียกร้องให้ลดการนำเข้าของประเทศลง ทั้งนี้ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากร โดยผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สปป.ลาวได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,200,000 กีบ (ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/11/07/laos-inflation-rate-hits-new-high-of-36-75-percent-in-october/