กัมพูชาเตรียมเปิดประเทศ หลังอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย

หลังจากทางการกัมพูชาได้เร่งทำการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับประชาชนภายในประเทศ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ากัมพูชามีโอกาสที่จะเปิดประเทศอีกครั้งก่อนประเทศเพื่อนบ้าน หลังผู้ก่อตั้ง X1 คาดการณ์ว่ากว่าร้อยละ 70 ของประชากรกัมพูชา จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 21 ก.ย. 2021 และคาดว่าจะครอบคลุมร้อยละ 80 ของประชากร ภายในวันที่ 31 ส.ค. 2021 ซึ่งกรุงพนมเปญยังเป็นเมืองหลวงที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นกว่าประมาณร้อยละ 99 ของผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ตามรายงานของ MSP ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ประกาศเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่าประชาชนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster) ด้วยวัคซีน AstraZeneca ในระยะถัดไป โดยคาดว่าสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นหลังทำการเปิดประเทศ จะทำให้อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สนับสนุนการค้าปลีกและบริการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม และในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50917989/rapid-vaccination-rates-a-cause-for-celebration/

ทางการกัมพูชาคาด เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2022

การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีหน้าเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลเป็นไปได้ตามเป้าหมาย โดยการคาดการณ์การเติบโตนี้จัดทำโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งได้รายงานในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการของรัฐสภา เรื่องการกำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการจัดสรรเงินสาธารณะในร่างกฎหมายว่าด้วยงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2022 ซึ่งทางกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังได้เคยคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4 ในปี 2021 หลังจากหดตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งจากโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ทางการจึงต้องปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือร้อยละ 2.4 ในปี 2021 และคาดว่ากัมพูชาจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เนื่องจากสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ครอบคลุมตามเป้าหมาย 10 ล้านรายในอนาคตอันใกล้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50918131/economic-growth-projected-at-4-8-percent-in-2022-deputy-pm/

“พาณิชย์” เผยไทยใช้ FTA-GSP ส่งออกครึ่งปี เพิ่ม 34%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือน มิ.ย.2564 มีมูลค่า 8,380.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 และยอดรวม 6 เดือนปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 40,244.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.34 มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 78.07 ของการได้รับสิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 38,329.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.27 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 79.05 และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 62.61 สำหรับรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในช่วง 6 เดือน ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 13,439.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.จีน มูลค่า 12,734.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 4,270.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 3,485.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 2,336.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบ FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-เปรู 100% 2.อาเซียน-จีน 96.58% 3.ไทย-ชิลี 86.80% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 80.04% และ 5.อาเซียน-เกาหลี 69.43%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/492374

สปป.ลาววอนไทยช่วยแรงงานลาวฝ่าวิกฤตโควิด-19

ประธานสมัชชาแห่งชาติลาว (NA) ขอให้ประเทศไทยช่วยเหลือชาวสปป.ลาวที่ทำงานในประเทศไทยดร.ไชสมพร พรหมวิหาร ประธาน NA ได้ยื่นข้อเสนอพร้อมพูดคุยกับชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทย ผ่านการประชุมทางวิดีโอเมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) โดยขอให้ชวนผลักดันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยให้ช่วยเหลือแรงงานสปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกในการกลับไปสปป.ลาว การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีงานเลิกจ้างจำนวนมาก และบังคับให้แรงงานลาวหลายร้อยคนต้องเดินทางกลับบ้าน ผู้นำทั้งสองกล่าวว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และสุขภาพ

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/08/17/laos-govt-asks-thailand-to-help-lao-workers-overcome-their-coid-19-crisis

การค้าระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รายงานจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 814 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน กัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวมประมาณ 295 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 35 รวมปริมาณการค้าทวิภาคีมูลค่า 1.109 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง เป็นต้น ส่วนกัมพูชานำเข้าเครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก จากประเทศญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50917490/cambodia-japan-trade-surges-in-first-half-of-2021-to-1-1-billion/

ทางการกัมพูชารายงานถึงการอนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ทางการกัมพูชารายงานถึงโครงการการลงทุนใหม่ 2 โครงการมูลค่ารวม 5.5 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการอนุมัติจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) คือโครงการของบริษัท Collaboration Packaging Material Products Co., Ltd. กำลังสร้างโรงงานในเขตจังหวัดกันดาล เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับกระเป๋าและรองเท้า และโครงการของบริษัท Chasefire Outdoors (Cambodia) Co., Ltd. จะตั้งโรงงานในจังหวัดตาแก้ว เพื่อผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และอุปกรณ์ตั้งแคมป์ ซึ่งคาดว่าทั้งสองโครงการจะสร้างงานมากกว่า 1,200 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ CDC ได้อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่กว่า 10 โครงการ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง และรองเท้า รวมมูลค่าเกือบ 80 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานได้ประมาณ 11,500 ตำแหน่ง ซึ่งปีที่แล้วมีโรงงานกว่า 101 แห่งในกัมพูชาปิดตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50917469/5-5-mn-of-investments-in-new-apparel-projects-will-create-1200-jobs/