กัมพูชาตั้งเป้าฉีดวัคซีนภายในประเทศ 10 ล้านคน โดยปัจจุบันฉีดไปแล้วกว่า 90%

กัมพูชาสามารถฉีดวัคซีนได้เกือบร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งได้กำหนดไว้ข้างต้นที่จำนวน 10 ล้านคน โดยตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ทางการกัมพูชาได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วจำนวน 9,020,990 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.93 ของประชากรภายในประเทศ ที่มีจำนวนอยู่ที่ 16 ล้านราย นอกจากนี้ทางการกัมพูชายังได้ทำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster) โดยใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 240,902 โดส ซึ่งได้เร่งทำการฉีดใน 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับชายแดนของไทย รวมแล้วมีประชาชนจำนวน 7.5 ล้านราย มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50916552/more-than-90-percent-of-the-targeted-10-million-population-in-cambodia-to-be-vaccinated-by-today-against-covid-19/

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาหารือญี่ปุ่นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กัมพูชาและญี่ปุ่นได้ร่วมประชุมระหว่างกันเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในกัมพูชา โดยอธิบดีกระทรวงการท่องเที่ยวด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมทางวิดีโอกับ Naoya Okada ผู้แทนจากสถานทูตญี่ปุ่น และ Katsuhito Nabeshima ผู้ก่อตั้งบริษัท Yamato Green Co. Ltd. ซึ่ง Yamato Green ถือเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการเกษตรในกัมพูชา ยกระดับคุณภาพอาหารและความปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมผลิตผลในท้องถิ่นในต่างประเทศ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและ Yamato Green ตกลงที่จะร่วมพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ให้เกิดความหลากหลาย ในด้านของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งกระทรวงกำลังเตรียมโครงการนำร่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในจังหวัดกำปงธม และโครงการปลูกพืชไร่ปลอดสารพิษ โดยภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 23 ของ GDP ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าภาคส่วนนี้จะเพิ่มอีกร้อยละ 1.6 ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50916487/tourism-chief-holds-talks-with-japan-on-boost-to-agri-tourism/

จีนอนุญาตชาวเมียนมามาเดินทางกลับประเทศ หลังโควิดระบาดซ้ำ

ชาวเมียนมาที่ติด COVID-19 ในเมือง Shweli ของจีน ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ถึง 10 ส.ค. 64 ที่จุดตรวจเข้า-ออกด่านชายแดนมูเซของรัฐฉาน ซึ่งชาวเมียนมาในมณฑลยูนนานถูกผลักดันให้เดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 เนื่องจากการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ของมณฑลยูนนาน ชาวเมียนมาที่ทำงานในเมือง Shweli ชายแดนจีน-เมียนมา มีส่วนผลักดันผลผลิตในประเทศของจีนและสามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในเมียนมา

ที่มา : https://news-eleven.com/article/213811

รัฐบาลสปป.ลาวเผยแผนชำระหนี้

สปป.ลาวมีหนี้ต่างประเทศสะสมอยู่ที่ประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้ในประเทศตอนนี้อยู่ที่ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดจากการกู้เงินเพื่อสร้างสมดุลให้กับงบประมาณในอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บุญชม อุบลปะสุทธิ์ กล่าวในการประชุมพิเศษของสภานิติบัญญัติที่ 9 ของ NA เมื่อเร็วๆ นี้ว่าทางรับบาลมีการวางแผนที่จะชำระหนี้ในช่วงห้าปีถัดไปจาก 2021-2025 และจาก 2026-2030 โดยระบุแหล่งรายได้หลายแหล่งเพื่อสร้างเงินทุนที่จำเป็นจะมาจากภาคเหมืองแร่และพลังงาน ด้วยแหล่งรายได้นี้รัฐบาลคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มเติมอย่างน้อย 10,000 พันล้านกีบ (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในอีกห้าปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_158.php

ญี่ปุ่นเจรจาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในกัมพูชา

กัมพูชาและญี่ปุ่นร่วมหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาและการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 โดยอธิบดีกรมการพัฒนาการท่องเที่ยวกัมพูชาร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น ได้จัดการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่ออำนวยความสะดวกในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชาหลังสิ้นสุดการระบาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวจะได้รับการส่งเสริมโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงอนุรักษ์รูปแบบใหม่ ภายใต้ Green Belt ตลอดจนการส่งเสริมมูลค่าเพิ่มในการท่องเที่ยว ด้วยความร่วมมือนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวจึงได้จัดทำโครงการนำร่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเทคนิคการเพาะปลูกสมัยใหม่ในอำเภอบาราย จังหวัดกำปงธม ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือการศึกษาและค่อยๆ พัฒนาภาคการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผ่านการปลูกผักและผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50915060/cambodia-and-japan-in-talks-to-promote-agro-tourism-and-recovery-of-tourism-sector-post-pandemic/

กัมพูชาเร่งวางแผนระบบอาหารที่ยั่งยืนภายในประเทศ

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กำลังเร่งร่างแผนระดับชาติ สำหรับระบบอาหารที่ยั่งยืน (SFS) ของกัมพูชา ในแผนงานปี 2030 เพื่อส่งเสริมภาคส่วนนี้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งการประชุมเพื่อตรวจสอบร่างสุดท้ายของ Roadmap เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ภายใต้การนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MAFF และรองประธานสภาเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท (CARD) โดยมีผู้แทนจาก 13 กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และสถาบันต่างๆ ตลอดจนพันธมิตรด้านการพัฒนา เช่น FAO, ADB, WB, WHO, GIZ และ UNICEF ซึ่งแผนงานมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นคงในระบบอาหาร ภายใต้คุณค่าทางโภชนาการที่มีมาตรฐาน มีความหลากหลายทางด้านผลิตภัณฑ์การเกษตร นำไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มขึ้นของเกษตรกรรายย่อย ไปจนถึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบุคคลเปราะบางภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50915722/drafting-of-national-roadmap-for-cambodias-sustainable-food-systems-accelerated/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่าเวียดนามเร่งตัวให้ทันตามเศรษฐกิจดิจิทัลโลกและอีคอมเมิร์ซ ขณะที่เว็บไซต์ของรัฐบาล อ้างจากร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัล คิดเป็น 20% GDP ภายในปี 2568 อีกทั้ง สมัชชาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายภาคดิจิทัลไว้ที่ 30% ของ GDP ปี 2573 นับว่าเป็นการตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในปัจจุบัน มีสัดส่วนเพียง 8.2% ของ GDP นอกจากนี้ Euromonitor International ยังได้ประมาณการว่าอีคอมเมิร์ซ มีสัดส่วนเพียง 3% ของตลาดค้าปลีกเวียดนามในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-aims-digital-economy-to-represent-20-pct-of-gdp-4340822.html

‘เวียดนาม’ เป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันดับ 3 ของโลก

สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก  (WINA) รายงานว่าในปีที่แล้วผู้บริโภคชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประมาณ 7.03 พันล้านห่อ รองจากฮ่องกงและอินโดนีเซีย ขณะที่ ตามตัวเลขสถิติของสมาคมฯ ชี้ให้เห็นว่าตลาดเอเชียเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วน 56.45% ของปริมาณการบริโภคทั่วโลกในปีที่แล้ว โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลการสำรวจของบริษัท Nielsen Vietnam แสดงให้เห็นว่าอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศ เพิ่มขึ้น 67% ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก แต่อัตราการบริโภคไม่สูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้น 14.79% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปี 2563

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-remains-a-top-three-instant-noodles-consumers-34865.html