สปป.ลาวจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในสะหวันนะเขตและแขวงทางใต้

สะหวันนะเขตจะร่วมมือกับแขวงอื่น ๆ ในภาคใต้และ บริษัท ทัวร์เพื่อจัดแพ็คเกจทัวร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้สูญเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้รัฐบาลต้องออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  แขวงสะหวันนะเขตมีสถานที่น่าสนใจมากมายซึ่งห่างจากเวียงจันทน์ 480 กม. มีโรงแรมและร้านอาหารรวมถึงระบบสาธาณูปโภคที่ดีในการรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดี จึงได้รับเลือกให้เป็นแขวงที่จะจัดทำแคมเปญการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/02/09/laos-pushing-the-tourism-button-savannakhet-joins-forces-with-other-southern-provinces-for-package-tours

กัมพูชากำลังพัฒนาด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศเพื่อรองรับอนาคต

ด้วยข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 5 ฉบับที่เกิดขึ้นในปีนี้ กัมพูชาจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องพัฒนาโครงข่ายด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับต่อปริมาณการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลกัมพูชาได้วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น ขยายถนนในเขตจังหวัดบาเว็ดจากสี่เลนเป็นหกเลนภายในระยะเวลา 6 เดือน สร้างทางด่วนพนมเปญไปยังสีหนุวิลล์ที่แล้วเสร็จแล้วร้อยละ 35 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2022 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจเส้นทางใหม่จากพนมเปญไปยังบาเว็ด นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าสีหนุวิลล์แห่งใหม่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2025 เมื่อแล้วเสร็จท่าเรือจะสามารถรับสินค้าได้กว่า 5,000 TEU ณ ความลึก 40.5 เมตร โดยดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของธนาคารโลกได้ให้คะแนนกัมพูชาไว้ที่ 2.8 ในปี 2018 ซึ่งถูกจัดอันดับไว้ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อีกทั้งผลสำรวจและการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พบว่ากัมพูชามีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงเมื่อเทียบกับไทยและเวียดนามอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811861/kingdom-is-bolstering-its-logistics-in-anticipation-of-string-of-ftas/

ซีพี พร้อมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารในกัมพูชา

CP ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP หลังดำเนินธุรกิจในกัมพูชามาร่วม 12 ปี ตั้งแต่ปี 2008 โดยมองถึงประโยชน์ 3 ประการที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับมาตรฐานข้างต้น คือ ประโยชน์ต่อประเทศกัมพูชา ในการมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตที่ดีในกัมพูชา ให้สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ส่วนประการถัดมาคือประโยชน์ต่อประชาชนชาวกัมพูชาที่จะมีโอกาสได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยถูกสุขอนามัยและสะดวกสบายที่ผลิตในท้องถิ่นโดยไม่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า ประการสุดท้ายประโยชน์ต่อ บริษัทเอง นอกจากนี้การนำ GMP และ HACCP มาใช้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจการผลิตอาหารของบริษัทเอง ทั้งในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของผู้ประกอบการในทุกขั้นตอนการผลิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811862/cp-is-ready-to-raise-the-standard-of-food-products-in-cambodia/

‘พาณิชย์’ เผย ‘รัฐสภา’ เห็นชอบให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้

กระทรวงพาณิชย์เผย รัฐสภาเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เรียบร้อยแล้ว เตรียมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศและแนวปฏิบัติรองรับการใช้ประโยชน์ คาดมีผลบังคับภายในปีนี้ ย้ำผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ประโยชน์จริง โดยในที่สุดรัฐสภาของไทยมีมติ ‘เห็นชอบ’ การให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการให้สัตยาบันในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลง RCEP เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย โดย RCEP จะเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2,200 ล้านคน สินค้าส่งออกหลายรายการของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเปิดตลาดใน RCEP ให้ไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น สินค้าประมง, แป้งมันสำปะหลัง, สัปปะรด, น้ำมะพร้าว, น้ำส้ม, อาหารแปรรูป, ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น

ที่มา : https://thestandard.co/parliament-agreed-to-ratify-the-rcep-agreement/

จีนมอบวัคซีนโควิด -19 แก่สปป.ลาว 300,000 โด๊ส

กระทรวงสาธารณสุขสปป.ลาว ได้รับวัคซีนโควิด -19 จำนวน 300,000 โดสจากประเทศจีนและได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 600 คนแล้ว การช่วยเหลือเกิดขึ้นภายใต้กองทุนตอบสนอง โควิด -19 จากประเทศจีนและได้ส่งมอบอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา วัคซีนดังกล่าวผลิตโดย China’s Sinopharm (China National Pharmaceutical Group Co. , Ltd. ) รองศาสตราจารย์ดร.บุญคง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสปป.ลาวกล่าวว่า “คาดว่าประชากรสปป.ลาว 1.6 ล้านคนหรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จะได้รับการฉีดวัคซีนในปีนี้และคาดการณ์ในปี 2565 จะฉีดได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดและเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไปนอกจากนี้สปป.ลาวยังคาดหวังว่าจะได้รับวัคซีนโควิด -19 จาก Gavi COVAX Facility ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีน Covid-19 ได้อย่างเท่าเทียมกันของ WHO เพื่อตอบสนองต่อการป้องการแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างมีประสิทธิภาพ  

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_China_27.php

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯในปี 2020 ยังคงแข็งแกร่งแม้จะเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 แต่ถึงอย่างไรการส่งออกของกัมพูชาไปยังคู่ค้าหลักอื่น ๆ ก็ยังคงลดลง จากตัวเลขของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 6.577 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมอยู่ที่ 343 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับตัวเลขของปี 2019 ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 6.921 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สำหรับการเดินทาง เป็นหลัก ส่วนกัมพูชานำเข้าสินค้าสำคัญจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯดำเนินการภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯในรูปแบบปลอดภาษี (เฉพาะสินค้าที่กำหนด)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811365/cambodian-exports-to-us-show-strength-in-2020/