กัมพูชามีแผนเปิดประตูชายแดนกับเวียดนามอีกแห่ง

กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) ระบุว่ากำลังดำเนินเปิดประตูชายแดนอีกแห่งกับเวียดนาม เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งตู้สินค้าข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ จากการประชุมระหว่างภาครัฐกับเอกชน กัมพูชาและญี่ปุ่น คุณ Nou Savath เลขาธิการกระทรวง กล่าวว่ากระทรวงโยธาธิการและขนส่ง มีแผนที่จะนำคณะทำงานรัฐมนตรี ทำการตรวจสอบประตูชายแดนอีกแห่งกับเวียดนาม สำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากประตูชายแดน ‘Bavet-Moc Bai’ คับคั่งอย่างมาก อีกทั้ง กัมพูชากำลังพิจารณาที่จะเปิดประตูชายแดนอีกแห่ง ‘Prey Vor-Binh Hiep’ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานของศุลกากรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง และลดความแออัดของชายแดน Bavet

ที่มา : https://english.cambodiadaily.com/business/cambodia-plans-another-intl-border-gate-with-vietnam-168978/

การค้ากัมพูชา-ญี่ปุ่น ดิ่งลง 6%

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน หากจำแนกชี้ให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ประมาณ 914.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ มูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่น 260.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ คุณ Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวกับสำนักข่าว ‘The Post’ ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การค้าโลกลดลงที่ละน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 2-3

 ที่มา : https://english.cambodiadaily.com/business/kingdom-japan-trade-plummets-almost-6-168981/

อัตราการเติบโตทางการเกษตรสปป.ลาว ต่ำกว่าเป้าหมาย

ตามรายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ ในปีนี้ภาคการเกษตรสปป.ลาว คาดว่าจะเติบโตในอัตราเพียง 0.9-1.7 % ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2.8-3 % การขาดแคลนเกิดจากปัจจัยต่างๆรวมทั้งการระบาดของโรคโควิด -19 การระบาดของโรคและภัยธรรมชาติซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลง ตามรายงานของธนาคารโลก ภาคการเกษตรฟื้นตัวขึ้น แต่ในระดับปานกลางทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการหยุดชะงักของตลาดส่งออกและความเสี่ยงของสภาพอากาศ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเพิ่มการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกมากขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ สินค้าเกษตรบางส่วนยังคงถูกนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ มีความท้าทายหลายประการที่ขัดขวางการพัฒนาการเกษตร ที่ทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่การผลิตทางการเกษตรได้ สิ่งที่ทำได้คือใช้เทคนิคที่เหมาะสมและปรับปรุงการผลิตให้ทันสมัยเพื่อปรับปรุงปริมาณและคุณภาพของพืชที่ผลิตเพื่อการส่งออก แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือผู้ผลิตในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ผู้ปลูกยังคงต้องเจอกับต้นทุนที่สูงเนื่องจากต้องซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์และปุ๋ยจากประเทศอื่น ๆ ซึ่ง 64% ของประชากรสปป.ลาวทำงานในภาคเกษตร แต่ภาคนี้เติบโตขึ้นเพียง 3%  แม้ว่าการเข้าถึงแหล่งเงินจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ผู้ผลิตก็ต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก การเกษตรเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงเนื่องจากผู้ผลิตไม่เพียง แต่ต้องต่อสู้กับศัตรูพืชและโรคภัย รวมถึงน้ำท่วมและภัยแล้ง การชลประทานที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งยังคงพึ่งพาการเกษตรแบบยังชีพตามวิธีการดั้งเดิม แต่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและมีคุณภาพต่ำ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Agriculture_175.php

เมียนมาเตรียมสร้างท่าเรือเพื่อพัฒนาการขนส่งทางน้ำ

กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารกำลังวางแผนที่จะพัฒนาท่าเรือภายในประเทศหลายแห่งที่แม่น้ำอิระวดีและแม่น้ำชิดวิน เพื่อปรับปรุงการขนส่งทางบกและการขนส่งทางแม่น้ำ ท่าเรือแห่งใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาเป็นท่าเรือหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังยกระดับการค้ากับอินเดีย จีน และไทยและสอดคล้องกับแผนพัฒนาแห่งชาติของเมียนมาและแผนแม่บทโลจิสติกส์ ท่าเรือทั้ง 5 แห่งอยู่ใน จังหวัดปะโคะกู เขตมะกเว เมืองบะมอฝั่งแม่น้ำอิรวดี รวมถึงเมืองกะเล่วะและเมืองโมนยวาริมแม่น้ำชิดวิน (Chindwin) โดยมีมูลค่ารวม 182 ล้านดอลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลและคาดว่าจะเริ่มได้ในปีงบประมาณที่จะถึงนี้  ท่าเรือทั้ง 5 แห่งซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วคาดว่าจะยกระดับเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการขนถ่ายสินค้าและการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีประสิทธิภาพและสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในท้องถิ่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ยังช่วยลดราคาสินค้าเนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ลดลง ประหยัดเวลาการเดินเรือด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายที่รวดเร็ว ลดการสูญเสียและความเสียหายต่อสินค้าและการขนถ่ายสินค้าที่ปลอดภัยและมีความเชื่อถือมากขึ้น

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-build-inland-ports-improve-river-transportation.html

ภาคก่อสร้างเมียนมาหวั่นผลกระทบจากการ Work from Home

บริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำงานจากที่บ้าน (WFH) ผลมาการระบาดของ COVID-19  โครงการ WFH ถูกนำมาใช้ร้อยละ 50 สำหรับพนักงานถูกนำมาใช้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 63 ในช่วงการระบาดครั้งแรกของ COVID-19 แต่ถูกยกเลิกไปในเดือนมิถุนายนเมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลง ขณะนี้อาจถูกนำกลับมาใช้เมื่อมีการระบาดอีกครั้ง แม้ว่าการ WFH สามารถนำมาใช้ในภาคธุรกิจที่ไม่ให้พนักงานมาทำงานที่สำนักงานได้ แต่เป็นการยากสำหรับภาคการก่อสร้างที่จะลดจำนวนคนงานในสถานที่ทำงาน  ขณะเดียวกันกำลังปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินงานถูกระงับ ซึ่งภาคการก่อสร้างเป็นแหล่งที่ให้โอกาสในการทำงานมากที่สุดในตอนนี้  ปัจจุบันการก่อสร้างเเริ่มฟื้นตัวหลังจากหยุดชะงักระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 63 ซึ่งในช่วงดังกล่าวเอกชนรายย่อยบางรายเลิกกิจการเนื่องจากปัญหาการหมุนเวียนของกระแสเงินสด

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/construction-sector-myanmar-worried-over-work-home-order.html

คลังสวนแวต 9% ทำของแพง-เศรษฐกิจเจ๊งหนักกว่าเดิม

คลังแจงขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% ชี้ทำของแพง ซ้ำเติมชาวบ้าน เศรษฐกิจเจ๊งหนักกว่าเดิม พร้อมการันตีฐานะคลังไทยแกร่ง ถังไม่แตก นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีนายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง เสนอให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% เพื่อดูแลเศรษฐกิจว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจะต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม เพราะหากขึ้นไปแล้วจะทำให้สินค้าและบริการแพงขึ้น อำนาจการซื้อประชาชนลดลง และซ้ำเติมประชาชนในยุคไวรัสโควิดเพิ่มอีก โดยประเมินว่าหากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 9% จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวยิ่งกว่าเดิม จีดีพีจะลดลงอย่างน้อย 0.6% ต่อปี  พร้อมทั้งขอยืนยันว่า กระทรวงการคลังมีเงินคงคลังที่เข้มแข็ง และเพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ รวมถึงใช้ดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจากโควิด ตลอดจนยังสามารถบริหารจัดการหนี้ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐได้ ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย.64 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพและกระตุ้นให้มีการบริโภคของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/794224