ไทยนำอาเซียนหารือจีน ยกระดับความตกลงทางการค้า เร่งเปิดตลาดเสรีเพิ่มเติม หลังโควิด-19 คลี่คลาย

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ASEAN – China Free Trade Agreement – Joint Committee : ACFTA-JC) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ Ministry of Commerce สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะองค์ประกอบผู้แทนไทย ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมดังกล่าวที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินการตามประเด็นที่จะเจรจาต่อไปในอนาคต (Future Work Programme) ภายใต้พิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA Upgrading Protocol) ได้แก่ การหารือแนวทางการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม การหารือการเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน รวมถึงการหารือความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือ ACFTA อาทิ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3147253

องค์กรสื่อในสปป.ลาวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

สื่อในสปป.ลาวได้รับคำสั่งให้ทำการปรับเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเติบโตอย่างรวดเร็วของโซเชียลมีเดีย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว กล่าวว่าการปรับปรุงระดับความเป็นมืออาชีพ การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไปและเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรสื่อ นักข่าวต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะโดยให้ข้อมูลที่ทันเวลาและเป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็รับประกันความถูกต้องของข้อมูล จำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหาและประสิทธิภาพของการจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สื่อรูปแบบดั้งเดิมรวมถึงหนังสือพิมพ์จะไม่หายไปแม้ว่าแพลตฟอร์มสื่อใหม่ๆ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จะลดน้อยลง นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายซึ่งมีส่วนในการปลดปล่อยประเทศในปี 2518 และให้บริการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้สื่อยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างสปป.ลาวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Media150.php

รัฐบาลเกาหลีใต้ให้สนับสนุนเงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับพัฒนาด้านการศึกษาของสปป.ลาว

รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีใต้ให้เงินสนับสนุนมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่สปป.ลาวผ่านโครงการหลักสูตรปริญญาโทปี 2563 โดยทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นทุนสำหรับศึกษาหลักสูตรปริญญาโทประกอบด้วยค่าเล่าเรียนค่าครองชีพ ทุนการวิจัยและอื่น ๆ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักศึกษาสปป.ลาวและพัฒนาเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศเพื่อขอรับทุนการศึกษาในการพัฒนาความรู้และความสามารถเพื่อสร้างทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของสปป.ลาว นายชินซองซุนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ย้ำว่าการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดของสปป.ลาวและเป็นคุณลักษณะสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จของเกาหลีใต้ และยังกล่าวเสริมอีกว่า “การพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์มากกว่าคุณภาพของเศรษฐกิจเชิงวัตถุและนี่คือสิ่งที่การศึกษาให้ความสำคัญ” รัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลีใต้และสปป.ลาวหวังว่าทุนการศึกษาจะสร้างผู้นำในอนาคตและทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ชิดยิ่งขึ้นโดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชนอย่างแข็งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองร่วม

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Korea150.php

ถกความมั่นคงทางอาหารภูมิภาคอาเซียน

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเลขานุการถาวรคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Secretariat) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ครั้งที่ 40 ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้มีสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นมาเลเซีย และ สปป.ลาว) สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (AFSIS) และองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารปัจจุบัน รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ทั้งนี้ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนปริมาณความต้องการบริโภคตามจำนวนประชากรในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นนั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าเกษตรของไทย ตลอดจนแสวงหากลไกความร่วมมือกับนานาประเทศ

ที่มา : https://tna.mcot.net/business-488996

ญี่ปุ่นแก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างอาเซียนรวมถึงกัมพูชา

ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีการปรับปรุงระหว่างญี่ปุ่นและกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับ 5 ประเทศแล้ว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ส่วนสมาชิกที่เหลืออีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ จะเข้าร่วมเมื่อได้ข้อสรุปขั้นตอนต่างๆของแต่ละประเทศเสียก่อน ซึ่งภายใต้สนธิสัญญาฉบับปรับปรุงนี้ประเทศต่างๆ จะต้องรักษาความโปร่งใสในการควบคุมการให้บริการและไม่เลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงกฎสำหรับผู้เดินทางชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาและพักอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ โดยการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในปีที่แล้วสู่ 2,292 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานล่าสุดจากองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศผู้นำเข้าจากกัมพูชา ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2019 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นมูลค่ารวมราว 1,730 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 เพิ่มขึ้น เป็น 562 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50751316/revised-trade-pact-between-japan-asean/

กัมพูชาจัดทำแผน “Travel bubble” ช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวกำลังดำเนินการเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยได้เตรียมแผน “Travel bubble” รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแม้ว่ากัมพูชาจะพบกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในกัมพูชาทั้งหมดมีจำนวนถึง 240 คน มีผู้ป่วย 32 ราย กำลังทำการรักษาตัวอยู่ โดยกระทรวงเริ่มทำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและกระทรวงสาธารณสุขในการออกแบบนโยบายการเดินทางที่เรียกว่า “Travel bubble” เพื่อเตรียมแพ็คเกจการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้มีความปลอดภัยสูงที่สุด ซึ่งคาดว่าหากแผนนี้ประสบความสำเร็จจะทำให้กัมพูชาสามารถสร้างความมั่นใจในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและสร้างความมั่นใจแก่หลายๆภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ โดยอาเซียนและอาเซียนบวกสาม คือประเทศเป้าหมายหลัก ซึ่งกระบวนการจะต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุขและได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50751509/cambodia-prepares-travel-bubble-plan-to-aid-tourism/