2 จังหวัดในกัมพูชาได้รับการอนุมัติให้ออกหนังสือ Form D ได้

กระทรวงพาณิชย์ประกาศว่าอีกสองจังหวัดได้เริ่มออกหนังสือ Form D หรือใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าในแต่ละพื้นที่ โดยตอนนี้จังหวัดเขาพระวิหารและจังหวัดโพธิสัตว์สามารถออกฟอร์มได้แล้ว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ส่งออก โดยกระทรวงกำลังมอบหมายการออกแบบฟอร์ม ไปยังแผนกพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและการส่งออกรวมถึงช่วยให้บริษัทประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งโครงการนี้มาถึง 16 จังหวัด เจ้าหน้าที่ในจังหวัดพระวิหารและจังหวัดโพธิสัตว์สามารถออกหนังสือ Form D ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตผู้ค้าและผู้ส่งออกในจังหวัดสามารถทำการสมัครออนไลน์เพื่อขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออกโดยส่งใบสมัครผ่านทางเว็บไซต์ของแผนกการค้าจังหวัด ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ของปราสาทเขาพระวิหารกล่าวว่านี่คือการพัฒนาที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกในท้องถิ่นส่งสินค้าเกษตรไปยังตลาดเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น โดยผู้ส่งออกไม่ต้องเดินทางไปที่กระทรวงในพนมเปญอีกต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50668982/two-more-provinces-get-to-issue-d-forms/

การยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของเกษตรกรในปราสาทเขาพระวิหาร

ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกกำลังจะสิ้นสุดลง โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวกำลังรวบรวมข้าวเปลือกจากเกษตรกรผ่านโครงการการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ ซึ่งเกษตรกรได้รับประโยชน์มากกว่า 5,000 ครอบครัว ในจังหวัดพระวิหาร โดยผู้ส่งออกท้องถิ่นสามราย ได้แก่ Amru Rice, Signatures of Asia และ Golden Rice ได้ทำสัญญากับชุมชนกว่า 34 แห่งในจังหวัด โดยปีนี้ในชุมชนขายข้าวอินทรีย์จำนวน 22,461 ตัน ให้แก่บริษัทคู่สัญญา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรของเขาพระวิหารกล่าวว่าการทำฟาร์มแบบสัญญามีประโยชน์กับ 5,341 ครอบครัว โดยทำการเพาะปลูกบนพื้นที่รวม 14,769 เฮกตาร์ ซึ่งปีนี้ Amru Rice ได้ซื้อข้าว 12,841 ตัน จากการทำสัญญาโดยคิดเป็นประมาณ 75% ของเป้าหมายในปี 2019 ขณะที่ Signatures of Asia ซื้อข้าวเปลือก 1,000 ตัน หรือ 70% ของเป้าหมาย และ Golden Rice ได้บรรลุเป้าหมายในปี 2562 โดยได้ซื้อข้าวเปลือก 3,129 ตัน ในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้ส่งออกตกลงที่จะซื้อข้าวขาว (ไม่ใช่ข้าวหอม) ในราคา 1,200 ถึง 1,300 riel ($ 0.29 ถึง $ 0.32) ต่อกิโลกรัม ราคาข้าวหอมมะลิถูกตั้งไว้ที่ 1,450 ถึง 1,650 เรียล (0.36 ถึง $ 0.4) โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมกัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 457,940 ตัน เพิ่มขึ้น 5%

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50669031/contract-farming-lifting-farmers-living-standards-in-preah-vihear/

โออาร์ ลุยธุรกิจNonOilในตปท. เปิดร้านเพิร์ลลี่ ที่สาขาแรกในลาว

โออาร์ เตรียมรุกขยายธุรกิจนอนออยล์ในประเทศเพื่อนบ้าน ประเดิมเปิดร้านเพิร์ลลี่ ที ในต่างประเทศสาขาแรกในlสปป.ลาว ส่วนร้านคาเฟ่อเมซอนจ่อชิงตลาดกาแฟในเวียดนาม โดยบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนดำเนินธุรกิจ 5 ปี (2563-2567) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโออาร์ และคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เพื่ออนุมัติในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ โดยเบื้องต้นในส่วนของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non Oil) จะหันมาทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้ นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า ขณะนี้ โออาร์ได้เปิดให้สินค้าหรือร้านค้าท้องถิ่นเข้ามาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เพิ่มมากขึ้น อาทิ ร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ ร้านก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย เป็นต้น  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ก่อนนี้ โออาร์ ได้ประกาศเตรียมผลักดันกลยุทธ์แผนธุรกิจระยะ 5 ปี(ปี2563-2567) จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Inorganic growth) ซึ่งมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจNon Oil และธุรกิจต่างประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% รวมทั้งมีแผนขยายสถานบริการน้ำมันในต่างประเทศ เป็น 500 แห่งในปี 2566

ที่มา : นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 11 ธ.ค. 2562

‘กรุงฮานอย’ เป็นเมืองที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด ในช่วง 11 เดือนแรกปี 62

จากข้อมูลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม เปิดเผยว่าฮานอยยังคงเป็นเมืองที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 ด้วยมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างชาติรวม โดยตัวเลขดังกล่าว มีมูลค่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เหตุผลที่นักลงทุนต่างชาติถึงเลือกเข้ามาลงทุนในฮานอย เนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ความพร้อมของเขตอุตสาหกรรม และการขนส่งที่สะดวก ทำให้กรุงฮานอยเป็นหนึ่งในเมืองหลวงศูนย์กลางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้าและบริการ รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร ทั้งนี้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม โดยในปีนี้ มีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติอยู่ที่ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะมีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/569661/ha-noi-attracts-highest-fdi-in-11-months.html#PcSlgw4fY54QgWt6.97

การลงทุนจากต่างประเทศพุ่งสูงขึ้น ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูปเวียดนาม

จากรายงานของสมาคมไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้เวียดนาม เปิดเผยว่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมไม้แปรรูปของเวียดนาม โดยในปีที่แล้ว มีผู้ประกอบการต่างชาติกว่า 529 ราย ที่มีมูลค่าการส่งออกราว 3.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.7 ของการส่งออกทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ยังมีบริษัทต่างชาติอื่นๆ อีกมากที่ให้บริการจัดเตรียมวัตถุดิบ เพื่อป้อนเข้าสู่บริษัทแปรรูปไม้และให้บริการด้านการขนส่งอีกด้วย ประกอบกับค่าจ้างแรงงานถูก การเข้าถึงวัตถุดิบได้ง่าย ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และอัตราภาษี เป็นต้น เนื่องมาจากข้อตกลงการค้าเสรี ส่งผลให้อุตสาหกรรมดังกล่าวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ สงครามการค้าสหรัฐฯและจีน จะสร้างโอกาสใหม่ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในอุตสาหกรรมไม้แปรรูปของเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/569605/foreign-investment-increases-in-wood-processing-industry.html#d7SY8bmUk5U1KudL.97

สปป.ลาวกระตุ้นการลงทุนด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่อง

สปป.ลาวจะยังคงส่งเสริมการลงทุนด้านโภชนาการในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างชุมชนที่สามารถผลิตอาหารและวัตถุดิบได้อย่างยั่งยืนและคนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่า แม้ว่าสถานการณ์การขาดสารอาหารจะดีขึ้น แต่การลงทุนด้านโภชนาการสำหรับชุมชนท้องถิ่นยังคงมีต่อเนื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานการขาดแคลนลดลงจาก 44% ปัจจุบันอยู่ที่ 33%แต่ยังมีในอีกหลายแขวงยังขาดการสนับสนุนทำให้การเปลี่ยนดังกล่าวยังไม่น่าพอใจมากนัก เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกล่าวว่าสาระสำคัญของงานโภชนาการในปีนี้คือ ‘การลงทุนด้านโภชนาการเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์การเจริญเติบโตและความเจริญรุ่งเรือง’ ความสำคัญของการลงทุนด้านโภชนาการที่เพิ่มขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆโดยเฉพาะที่สำคัญคือภาครัฐจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับรัฐบาลสปป.ลาวที่จะบรรลุเป้าหมายด้านโภชนาการที่ยั่งยืนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่และความยั่งยืนของชาติในภายภาคหน้า

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_DPM267.php

รัฐบาลสปป.ลาวระบุถึงข้อจำกัดในการทำธุรกิจของญี่ปุ่นในสปป.ลาว

ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนจากสปป.ลาวและญี่ปุ่นได้ร่วมประชุมประจำปีครั้งที่ 13 โดยมีวัตถุประสงค์หารือและแก้ปัญหากฎเกณฑ์การลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นในสปป.ลาว โดยในที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นที่เผชิญในสปป.ลาว จุดมุ่งหมายในหัวข้อดังกล่าวเพื่อปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นมายังสปป.ลาวโดยหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะสำหรับแต่ละประเด็นที่แตกต่างกัน โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมครั้งที่ 12 ช่วยให้เข้าใจปัญหาของญี่ปุ่นทำให้ได้รับการแก้ไขในหลายประเด็น โดยรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจาของบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทในสปป.ลาวและยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์ด้านภาษีที่เป็นประโยชน์มากขึ้นแก่บริษัทญี่ปุ่น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เป้าหมายก็ยังคงเป็นการแก้ไขในประเด็นอื่นๆต่อไปเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นในโครงการต่างๆมูลค่า 203 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่ญี่ปุ่นลงทุนมีส่วนทำให้เกิดการจ้างงานและการแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิตและความรู้ด้านการจัดการทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาวและการพัฒนาประเทศในอนาคต

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Public.php